การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ #MBK39 (คดีผู้ร่วมชุมนุม)

อัปเดตล่าสุด: 22/11/2562

ผู้ต้องหา

มัทนา

สถานะคดี

ชั้นอัยการ

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

กลุ่มประชาชนรวมตัวกันชุมนุมที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลปกรุงเทพฯในวันที่ 27 มกราคม 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่สนช.กำหนดให้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งอาจจะมีผลให้การเลือกตั้งล่าช้าไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังยุติการชุมนุมแต่ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคล 30 คนที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุมรวมสองข้อกล่าวหาได้แก่ ข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมในสถานที่หวงห้ามตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ต้องหา 29 คน เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้งหมดยกเว้นนพพรให้การปฏิเสธ หลังเสร็จขั้นตอนที่สน.ปทุมวันพนักงานสอบสวนนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งหมดไปพบที่ศาลแขวงปทุมวันในช่วงบ่ายเผื่อขอผัดฟ้อง หลังเสร็จกระบวนการที่ีศาลผู้ต้องหาทั้ง 28 คนที่ให้การปฏิเสธได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องวางเงินประกัน ส่วนนพพรที่ให้การรับสารภาพ ศาลถามคำให้การอีกครั้งเมื่อนพพรยืนยันให้การรับสารภาพศาลนัดนพพรฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลนัดนพเก้า จำเลยในคดีอีกคนหนึ่งที่เข้าพบพนักงานสอบสวนก่อนหน้าผู้ต้องหาคนอื่นๆและให้การรับสารภาพ

ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาจำคุกนพพรและนพเกล้าเป็นเวลา 6 วันและลงโทษปรับคนละ 3000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม 2561 อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่เหลืออีก 28 คน เพราะเห็นว่าการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากจะต้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกชั้นหนึ่งก่อน

นับจากวันที่ 19 เมษายน 2561 ที่อัยการเจ้าของสำนวนนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้ง 28 คนมาฟังคำสั่งอัยการสูงสุดเป็นครั้งแรกจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่อัยการเจ้าของสำนวนแจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าอัยการและทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นตรงกันที่จะไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 28 คน ผู้ต้องหาต้องเดินทางไปลงชื่อรับทราบคำสั่งเลื่อนนัดกับอัยการอย่างน้อย 11 ครั้ง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

1. มัทนา นักกิจกรรมทางสังคม

2. โชคชัย นักกิจกรรมทางสังคม  
 
3. พัฒน์นรี นักกิจกรรมทางสังคมและแม่ของสิรวิชญ์
 
4. เอกศักดิ์ นักกิจกรรมทางสังคม
 
5. รักษิณี นักกิจกรรมทางสังคม
 
6.จุฑามาศ นักกิจกรรมทางสังคม
 
7. พรนิภา นักกิจกรรมทางสังคม
 
8. กิตติธัช (แชมป์ 1984) นักกิจกรรมทางสังคม
 
9. สุดสงวน (อาจารย์ตุ้ม) นักกิจกรรมทางสังคมและอดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
10. กันต์ นักกิจกรรมทางสังคม
 
11. นพพร นักกิจกรรมทางสังคม 
 
12. สุวัฒน์ นักวิชาการอิสระ
 
13. กมลวรรณ นักกิจกรรมทางสังคม
 
14. นัตยา นักกิจกรรมทางสังคม
 
15.อนุรักษ์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) นักกิจกรรมทางสังคม
 
16. ประนอม นักกิจกรรมทางสังคม
 
17. สงวน นักกิจกรรมทางสังคมและผู้สื่อข่าวอิสระอาวุโส
 
18. สุรศักดิ์ นักกิจกรรมทางสังคม
 
19. พรวลัย นักกิจกรรมทางสังคม
 
20. สุวรรณา นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
 
21. นภัสสร นักกิจกรรมทางสังคม
 
22. อรัญญิกา นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
23. พรชัย นักกิจกรรมทางสังคม
 
24. วรัญชัย นักกิจกรรมทางสังคม
 
25. นพเกล้า ผู้สื่อข่าวข่าวสด
 
26. คุณภัทร นักกิจกรรมทางสังคม
 
27. สามารถ นักกิจกรรมทางสังคม
 
28. อ้อมทิพย์ นักกิจกรรมทางสังคม
 
29. วราวุธ นักกิจกรรมทางสังคม
 
30. เดชรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

ประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558
คำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามหมายเรียกของสน.ปทุมวัน บุคคลทั้ง 30 คน ชุมนุมร่วมกันที่บริเวณสกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพโดยที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังหรืิอวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป จึงเป็นความผิดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้งสามสิบคนถูกออกหมายเรียกครั้งแรกในวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยหมายเรียกฉบับที่ 1 ระบุข้อกล่าวหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ในวันที่  2 กุมภาพันธ์ผู้ต้องหาในคดีนี้ประมาณ 20 คนเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันตามนัด แต่เจ้าหน้าที่แจ้งกับทนายว่าเมื่อผู้ต้องหาทั้งหมดมารายงานตัวจะส่งตัวไปขออำนาจศาลฝากขังเลย ผู้ต้องหาทั้งหมดที่มาจึงขอให้ทนายไปเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนเนื่องจากผู้ต้องหาบางคนยังไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว

ทนายของผู้ต้องหาทั้งหมดขอให้พนักงานสอบสวนเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 แต่พนักงานสอบสวนก้ไม่ตอบรับว่าจะอนุญาตหรือไม่ ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงเดินทางกลับ 

ในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาเลื่อนนัดและออกหมายเรียกฉบับที่สองนัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดมารายงานตัวในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แทน ในหมายเรียกฉบับที่สองเจ้าหน้าที่ยังเพิ่มข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 กับผู้ต้องหาทั้ง 30 คนด้วย

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ต้องหา 29 คนเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดโดยนพเก้า หนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดแยกมารายงานตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว หลังเข้าพบพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเท้าไปพบพนักงานสอบสวนที่ศาลแขวงปทุมวันโดยไม่มีถุกควบคุมตัว เมื่อไปถึงศาลพนักงานสอบสวนขอศาลผัดฟ้องโดยไม่ขอฝากขัง ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงกลับบ้านได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงปทุมวัน

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

เหตุแห่งคดีนี้คือเหตุการณ์การชุมนุมเดียวกับคดี รังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 แต่เหตุที่มีการแยกฟ้องเป็นสองคดีเนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวงปทุมวัน ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเก้าคนที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแกนนำในการชุมนุมถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา 116 ด้วยซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวมีโทษสูงทำให้คดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

นพเก้าและนพพรผู้ต้องหาสองคนที่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลถูกฟ้องแยกเป็นอีกสองคดี

คดีของนพเก้าเป็นคดีหมายเลขดำเลขที่ อ.129/2561
คดีของนพพรเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.134/2561

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

25 มกราคม 2561

เฟซบุ๊กเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ที่บริเวณสกายวอล์กสถานีรภไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 และประท้วงการสืบทอดอำนาจของคสช.

26 มกราคม 2561

เฟซบุ๊กเพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ภาพแสดงจุดนัดพบในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม

27 มกราคม 2561

เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยว่าเจ้าหน้าที่จะเฝ้าติดตามการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด โดยจะเน้นทำความเข้าใจและขอความร่วมมือไม่ให้มีการกระทำที่เกินกรอบของกฎหมาย

ในเวลาประมาณ 17.20 น. ประชาชนเริ่มมารวมตัวกันที่จุดนัดพบบนสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่น การสวมใส่ผ้าปิดปากสีแดงที่เขียนคำว่า “NO COUP” และการยกโทรศัพท์มือถือที่เขียนคำว่า “หมดเวลา” บนหน้าจอแสดงต่อผู้ที่เดินผ่านไปมาบริเวณนั้น

ในที่ชุมนุมยังมีผู้สื่อข่าวมารอทำข่าวอยู่เป็นจำนวนมากและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย ระหว่างการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ามาพูดคุยกับณัฏฐา หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานว่า ให้ย้ายไปทำกิจกรรมบริเวณจุดกึ่งกลางสกายวอล์คที่ตั้งอยู่พอดีกับเกาะกลางถนนแยกปทุมวัน

Sample of calendar and pamphlet distributed during 27 January 2018 activity

ตัวอย่างปฏิทินและใบปลิวที่มีการแจกระหว่างกิจกรรม
 
ระหว่างการทำกิจกรรมณัฏฐาให้ข้อมูลว่าในวันนี้ผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมและไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียง ในเวลา 17.30 น. ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณที่เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าบีทีเอสจัดไว้ ผู้ชุมนุมมีการนำป้ายไวนิลภาพข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาแสดงและมีการแจกปฏิทินนาฬิกาให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมด้วย ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปสมบัติและวีระซึ่งเป็นนักกิจกรรมอาวุโสได้มาในบริเวณที่จัดงานด้วยโดยทั้งสองระบุว่ามาร่วมสังเกตการณ์ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ 
 
ในเวลา 17.55 น. ณัฏฐา อ่านแถลงการณ์ประณามคสช.เรื่องการตั้งข้อหาเพื่อปิดปากและละเมิดสิทธิพลเมือง โดยพูดถึงการตั้งข้อหากับประชาชนแปดคนที่ร่วมกิจกรรมวีวอล์กและการตั้งข้อกล่าวหากับชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการอาวุโสและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คสช.ยุติการดำเนินคดี
 
ในเวลา 18.30 น. พ.ต.อ.ภพธร จิตหมั่น ผู้กำกับสน.ปทุมวันพร้อมตำรวจในเครื่องแบบประมาณห้านายเดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมและสอบถามว่า การชุมนุมจะสิ้นสุดเมื่อใด สิรวิชญ์ในฐานะตัวแทนของผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งว่า ขอจัดกิจกรรมจนถึงเวลา 19.00 น. หลังจากนั้นพ.ต.อ.ภพธร กล่าวว่าขอให้ยุติกิจกรรมในเวลาที่ตกลงกันและเตือนเรื่องการใช้เครื่องกระจายเสียง เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาต 
 
รังสิมันต์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมประกาศในที่ชุมนุมด้วยว่าถ้าคสช.ไม่ถอนการแจ้งข้อหากับแปดแกนนำ People GO และชาญวิทย์ รวมทั้งไม่ดำเนินการใดกับพล.อ.ประวิตร ทางกลุ่มจะไปรวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 

การทำกิจกรรมในวันนี้ยุติลงในเวลา 19.00 น. โดยไม่มีการจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมกิจกรรม 

ชุมนุมนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง

ชุมนุมนัดรวมพลคนอยากเลือกตั้ง

ภาพบรรยากาศกิจกรรมในวันที่ 27 มกราคม 2561

29 มกราคม 2561

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าได้มอบหมายให้รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคงตรวจสอบเรื่องการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคมแล้วว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายใดหรือไม่ 

30 มกราคม 2561

บีบีซีไทยรายงานว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ็๋ดนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งในวันที่ 27 มกราคม 2561 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

นักกิจกรรมหเจ็ดคนที่ถูกเรียกตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้แก่ รังสิมันต์ สิรวิชญ์ ณัฎฐา อานนท์ เอกชัย สุกฤษฎ์ และเนติวิทย์ โดยทางสน.ปทุมวันจะออกหมายเรียกให้บุคคลทั้งเจ็ดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น.

30 มกราคม 2561

โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ หัวหน้างานสอบสวนสน.ปทุมวันร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯรวม 39 คนในข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุม โดยมีผู้ต้องหาเจ็ดคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 (คดีรังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39) ไปก่อนหน้านี้รวมอยู่ด้วย

ในวันเดียวกันหลังมีข่าวนักกิจกรรมและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมรวม 39 คน ณัฏฐา หนึ่งในเจ็ดผู้ต้องหาคดี รังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประกาศจะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อประณามและเรียกร้องให้ยุติการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Silent National Anthem 01 Feb 2018 Siam Paragon

1 กุมภาพันธ์ 2561

เวลาประมาณ 17.30 น. นัฎฐาและประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีนี้ร่วมทำกิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอนท่ามกลางการจับตาโดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

เจ้าหน้าที่ของห้างยังได้นำรั้วเหล็กติดข้อความสถานที่ส่วนบุคคล ห้ามจัดกิจกรรมก่อนได้รับอนุญาตจำนวนหนึ่งมาวางบริเวณลานหน้าห้างด้านที่ติดกับประตูทางเข้าห้างด้วย

fences with message from Siam Paragon were put up close by the area where activity "sing a national anthem in silence" was held

เมื่อณัฏฐาเริ่มแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ของห้างได้พยายามเข้ามาเจรจาเพื่อให้ยุติการทำกิจกรรมโดยชี้แจงว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลแต่ณัฏฐาก็ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป โดยตลอดเวลาที่มีการเจรจามีการผลักดันกันไปมาแต่ก็ไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น

ในเวลาประมาณ 18.00 ณัฏฐาและผู้ร่วมกิจกรรมอีกสามคนเอาเทปกาวปิดปากและยืนเงียบที่บริเวณบันไดหน้าห้างด้านที่มีน้ำพุ การยืนเงียบดำเนินไปถึงเวลา 18.30 น.ณัฏฐาจึงแถลงข่าวปิดท้ายกับผู้สื่อข่าวสั้นๆก่อนที่จะสลายตัว ซึ่งเมื่อณัฏฐายุติกิจกรรมแล้วเดินเข้าไปในห้างมีเจ้าหน้าที่ของห้างติดตามเข้าไปเพื่อสังเกตการณ์ว่าณัฏฐาจะทำกิจกรรมในห้างต่อหรือไม่ด้วย แต่ก็ไม่มีการทำกิจกรรมหรือการควบคุมตัวบุคคลใดเกิดขึ้นหลังจากนั้น

IMG_0137

กิจกรรมร้องเพลงชาติแห่งความเงียบ

2 กุมภาพันธ์ 2561

นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา

ผู้ถูกออกหมายเรียกในคดีนี้ประมาณ 20 คนเดินทางมาที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ผู้ต้องหาคดี รังสิมันต์: ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง #MBK39 ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์เดียวกันและพนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหามาพบในวันและเวลาเดียวกันมีณัฏฐาคนเดียวที่มารายงาน 

สำหรับผู้ต้องหาที่ไม่ได้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ก็ให้ทนายมาขอเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนโดยอ้างเหตุว่าติดภารกิจและพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอย่างกระชั้นชิด

#mbk39 มาที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเลื่อนการรายงานตัว

ตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สน.ปทุมวันมีการนำรั้วเขียนข้อความ "เขตหวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" มากั้นไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในสน.ปทุมวันด้วย โดยในวันนี้นอกจากผู้ถูกดำเนินคดีและทนายแล้วก็มีประชาชนประมาณ 30 คนมาคอยสังเกตการณ์และให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย

ขณะเดียวกันทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงมาดูแลการดำเนินการงานที่สน.ปทุมวันด้วยตัวเอง
 
เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดที่มารายงานตัวประสงค์จะให้การเลย แต่ก็ได้รับแจ้งจากทนายว่าเจ้าหน้าที่จะส่งตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังต่อทันที ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงตกลงกันว่าจะให้ทนายขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเนื่องผู้ที่มาบางคนไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว
 
จากนั้นผู้ต้องหาและทนายจึงใช้พื้นที่บริเวณตลาดสามย่านเขียนคำร้องไปยื่นขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 

#mbk39 มาที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเลื่อนการรายงานตัวผู้มารายงานตัวหารือกับทีมทนายความเรื่องแนวทางการเข้ารายงานตัวที่บริเวณตลาดสามย่าน

หลังยื่นคำร้องผู้ต้องหาและทนายรอฟังคำสั่งจากเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณสองถึงสามชั่วว่าจะให้เลื่อนหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีคำสั่งลงมา ผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมทั้งทนายจึงเดินทางกลับ
 
ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวและออกหมายเรียกใหม่นัดให้ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดมารายงานที่สน.ปทุมวันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเมื่อมีการออกหมายเรียกครบสองครั้ง หากผู้ต้องหาคนใดไม่มาในนัดหน้าทางตำรวจก็สามารถขอศาลออกหมายจับได้ทันที 
 
ในวันเดียวกันข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.เปิดเผยว่าเตรียมจะแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมกับบุคคลที่อยู่ร่วมในที่ชุมนุมอีกสองคนได้แก่สมบัติและวีระ เพราะมีหลักฐานว่าทั้งสองร่วมการปราศรัยด้วย
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา
 
ตั้งแต่ช่วงเช้า สน.ปทุมวันมีการเตรียมรับการรายงานตัวของผู้ต้องหา #MBK39 ด้วยการกั้นรั้วบริเวณทางเข้าสน.และติดป้ายเขียนข้อความ "พื้นที่หวงห้าม ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต" ในเวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ต้องหา ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ทยอยเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสน.ปทุมวัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง มาเตรียมตัวเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหา พร้อมกับแถลงจุดยืนต่อการดำเนินคดีประชาชนในกรณีนี้ 
 
ในวันนี้ผู้ที่มาแสดงตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวันมีทั้งหมด 34 คน 29 คนถูกกล่าวหาว่า เป็๋นผู้เข้าร่วมการชุมนุม ถูกแจ้งข้อกล่าวหารวมสองข้อ คือ สนับสนุนการชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 
 
อีกห้าคน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดกิจกรรม ถูกตั้งข้อกล่าวหารวมสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 และข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 
 
นอกจากผู้ต้องหาที่มาศาลในวันนี้ 34 คน คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกห้าคน ได้แก่ นพเก้า ผู้สื่อข่าวข่าวสดซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุมซึ่งมารับทราบข้อกล่าวหาไปตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 และผู้ต้องหาอีกสี่คนได้แก่เอกชัย อานนท์ สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ ยังไม่มารายงานตัว แต่ได้มอบหมายให้ทนายความมาขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน
 
ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนผู้ต้องหาที่มารายงานตัวส่วนหนึ่งแสดงสัญลักษณ์และถ่ายภาพร่วมกัน ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งยังสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความ #MBK39 ด้วย ในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินเข้าไปในสน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ทางตำรวจได้เตรียมพนักงานสอบสวนไว้ 8 คน และจัดผู้ต้องหาพร้อมทนายความและผู้ได้รับความไว้วางใจให้เข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเป็นชุด ชุดละ 8 คน
 
ผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันนี้เกือบทั้งหมดให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และใช้สิทธิที่จะไม่ให้การในรายละเอียดแต่จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน มีเพียงนพพรเท่านั้นที่ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งหมดว่า จะไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาแต่ขอนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพบที่ศาลในเวลา 14.00 น.ด้วยตัวเอง 
 
ผู้ต้องหา 29 คนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม เดินเท้าจากสน.ปทุมวันไปพบพนักงานสอบสวนที่ศาลแขวงปทุมวัน โดยมีตำรวจคอยดูแลการจราจรตลอดเส้นทาง ส่วนผู้ต้องหาห้าคนที่ถูกตั้งข้อหาฐานเป็นผู้จัดกิจกรรมเดินทางไปรอพบพนักงานสอบสวนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
ที่ศาลแขวงปทุมวัน เมื่อทุกคนเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่ศาลได้ให้ผู้ต้องหาทุกคนขึ้นไปรอที่ห้องพิจารณาคดี และให้ทนายความเข้าไปได้เพียง 3-4 คนเท่านั้น เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก ส่วนคนอื่นที่มาให้กำลังใจต้องรออยู่ด้านหลัง

พนักงานสอบสวนที่มาถึงยื่นคำร้องขอผัดฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็ได้เพียงอธิบายให้กับผู้ต้องหาฟังว่า คดีนี้ตำรวจไม่ได้ขอให้ควบคุมตัว ทุกคนจึงกลับบ้านได้และต้องมารายงานตัวต่อศาลตามวันเวลาที่นัดหมาย ซึ่งจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

สำหรับนพพรผู้ต้องหาที่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาลอีกครั้งหนึ่ง และศาลนัดให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มีนาคม 2561 พร้อมกับนพเก้า ผู้ต้องหาที่มารับทราบข้อกล่าวหาและให้การรับสารภาพไปก่อนหน้านี้แล้ว

7 มีนาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน นัดผู้ต้องหาทั้ง 28 ที่ให้การปฏิเสธส่งตัวให้อัยการศาลแขวงปทุมวัน ในวันนี้มีผู้ต้องหามารายงานตัวทั้งหมด 24 คน ส่วนอีกสี่คนขอเลื่อนการรายงานตัวเพราะติดภารกิจ ในวันนี้ทางฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการและขอให้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม โดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญได้แก่ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม ตามกรอบรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งหมด 
 
หลังรับหนังสือขอความเป็นธรรม อัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนไปทำการสอบสวนเพิ่มเติม และนัดให้ผู้ต้องหามาพบอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น
 
8 มีนาคม 2561 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 9.00 น. นพเก้าและนพพร สองจำเลยที่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลเดินทางมาที่ศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษา บรรยากาศโดยทั่วไปที่หน้าศาลวันนี้ไม่มีประชาชนมาให้กำลังใจจำเลยทั้งสอง แต่ในช่วงเวลาประมาณ 9.10 น. พบว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลคนหนึ่งมานั่งอยู่บริเวณป้ายหน้ารั้วศาล และที่หน้าอาคารศาลก็มีเก้าอี้สีขาวประมาณ 10 – 20 ตัวมาตั้งไว้
 
ในเวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยทั้งสองแยกกันเข้าห้องพิจารณาคดีคนละห้องเนื่องจากอัยการฟ้องคดีแยกกัน นพเก้าเข้าห้องพิจารณาคดีที่ 4 ส่วนนพพรเข้าห้องพิจารณาคดีที่ 6 โดยที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งกับนพเก้าซึ่งนั่งรอที่หน้าห้องว่าศาลขอให้เขาเข้าไปฟังคำพิพากษาคนเดียว ส่วนห้องพิจารณาคดีที่ 6 ทนายและผู้ช่วยทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าไปร่วมฟังคำพิพากษากับนพพรได้
 
ศาลใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษาประมาณห้าถึงสิบนาทีก็แล้วเสร็จ นพพรซึ่่งออกจากห้องพิจารณาคดีมาก่อนแจ้งกับไอลอว์ว่าศาลแขวงปทุมวันพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 2 รื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และความผิดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชุมนุมในระยะห่างไม่ถึง 50 เมตรจากเขตพระราชฐาน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 วัน และปรับเป็นเงิน 6000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน ปรับ 3000 บาท เนื่องจากนพพรไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
หลังนพพรออกจากห้องพิจารณาคดีได้ประมาณห้านาทีนพเก้าก็เดินออกมาจากห้องพิจารณาคดีที่ 4 และแจ้งว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีของเขาเหมือนกับคดีของนพพร หลังฟังคำพิพากษาเสร็จนพเก้าและนพพรก็ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาก่อนจะเดินทางกลับ โดยเมื่อออกมาที่หน้าประตูศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เคยนั่งอยู่บริเวณป้ายหน้ารั้วศาลก็ไม่ได้นั่งอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว. 
 
 
Nopporn and Noppakao showed their fine receipt from Patumwan Municipal Court
 
นพเก้าและนพพรแสดงใบเสร็จค่าปรับ 3000 บาทของศาลแขวงปทุมวัน
 
9 มีนาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตามที่อัยการศาลแขวงปทุมวันนัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันในวันนี้ ปรากฎว่ามีผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวรวม 23 คน ส่วนผู้ต้องหาอีกห้าคนให้ทนายมาขอเลื่อนการรายงานตัวเนื่องจากติดภาระกิจไม่สามารถเดินทางมาได้
 
สำหรับคำสั่งคดี อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าการฟ้องคดีนี้จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการเจ้าของสำนวนยังไม่ถือเป็นที่สุด แต่จะต้องส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งเป็นที่สุด โดยอัยการเจ้าของสำนวนนัดให้ผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 19 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น.
 
19 เมษายน 2561 
 
นัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุด
 
ประชาไทรายงานว่า อัยการศาลแขวงปทุมแจ้งกับผู้ต้องหาที่มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดีจากอัยการสูงสุดว่าจะขอเลื่อนการอ่านคำสั่งคดีออกไปก่อนเป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 
 
23 พฤษภาคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการศาลแขวงปทุมวันแจ้งกับผู้ต้องหาว่าจะขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุดออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 น. โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่มีการเลื่อนนัดอ่านคำสั่งคดีของอัยการสูงสุด
 
26 มิถุนายน 2561
 
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าอัยการศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 โดยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดนัดนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สามแล้ว 
 
31 กรกฎาคม 2561
 
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ให้ข้อมูลว่าอัยการศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 25 กันยายน 2561 โดยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดนัดนี้นับเป็นการเลื่อนครั้งที่สี่แล้ว 
 
5 กันยายน 2561
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
เวลา 9.00 น. นพเก้าและทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยในวันนี้ไม่มีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจแต่อย่างใด 
 
ศาลอ่านคำพิพากษาให้นพเก้าฟังโดยสรุปความได้ว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ว่านพเก้ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และความผิดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชุมนุมในระยะห่างไม่ถึง 50 เมตรจากเขตพระราชฐาน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นบทหนัก

ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 วัน และปรับเป็นเงิน 6000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน ปรับ 3000 บาท เนื่องจากนพเก้าไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
25 กันยายน 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุด
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
 
27 พฤศจิกายน 2561
 
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีของอัยการสูงสุดออกไปเป็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562
 
7 สิงหาคม 2562
 
สงวน หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่าอัยการสูงสุดนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 โดยในชั้นอัยการมีการเลื่อนการสั่งคดีมาแล้ว 13 ครั้ง
 
28 สิงหาคม 2562

สงวนโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อัยการสูงสุดเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เพราะยังทำสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ โดยสงวนระบุว่าคดีนี้มีการเลื่อนการสั่งคดีมาแล้ว 16 ครั้ง
 
30 ตุลาคม 2562
 
สงวน หนึ่งในผู้ต้องหาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่านัดฟังคำสั่งอัยการถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 24 ธันวาคม 2562 โดยสงวนระบุด้วยว่าเป็นเวลากว่า 20 เดือนแล้วที่การสั่งคดีนี้ถูกเลื่อนออกไป 
 
19 พฤศจิกายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ได้รับแจ้งจากอัยการว่า ตามที่อัยการเคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และได้ส่งความเห็นกลับไปให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณานั้น บัดนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นความเห็นเดียวกับอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติ 
 
22 พฤศจิกายน 2562
 
ผู้ต้องหา 15 คน ที่มีวันว่างตรงกันนัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันในเวลา 10.00 น. เพื่อรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีจากพนักงานสอบสวน ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจะมารับหนังสือในภายหลังตามที่แต่ละคนสะดวก
 
สำหรับบรรยากาศที่หน้าสน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมการวางกำลังใดๆไว้เป็นพิเศษ มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายครึ่งท่อนสวมเสื้อคลุมหนึ่งนายที่มาสังเกตการณ์และถ่ายภาพผู้ต้องหาที่มารายงานตัว
 
ผู้ต้องหา 15 คน ทยอยมาถึงหน้าสน.ปทุมวันตั้งแต่เวลา 9.00 น. พร้อมกับมีการทำป้ายไวนิลเขียนข้อความ"หยุดนิติสงคราม " "หยุดปิดปากประชาชน" "หยุดลิรอนสิทธิขั้นพื้นฐานปชช(ประชาชน)" "หยุดยัดเยียดข้อกล่าวหาปชช" มาถือถ่ายภาพร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีผู้ต้องหาบางส่วนที่สวมเสื้อสกรีนข้อความ #MBK39 มาเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน
 
ในเวลาประมาณ 10.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน พร้อมทนายความเดินเท้าเข้าไปที่สน.ปทุมวันพร้อมกันเพื่อรับหนังสือแจ้งความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ซึ่งให้เหตุผลประกอบคำสั่งไม่ฟ้องคดีโดยสรุปได้ว่า
 
ในส่วนของข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ออกมายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังกำหนดให้การกระทำไม่เป็นความผิด และให้ผู้กระทำการพ้นจากความผิดผู้ต้องหาทั้ง 28 คน จึงพ้นจากความผิดในข้อกล่าวหานี้
 
ในส่วนของข้อกล่าวหาสนับสนุนการจัดการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 จากเขตพระราชฐานหรือที่ประทับของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 28 คน เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ได้ทำการปราศรัย เข้าช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกต่อผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด พยานหลักฐานยังไม่พอฟังได้ว่าทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนการจัดการชุมนุมสาธารณะ ทั้งการชุมนุมก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อกล่าวหานี้ จึงไม่คำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 28 คน
 
หลังรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ต้องหาคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นอัยการเจ้าของสำนวนคดีนี้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งตามระเบียบอัยการมีอิสระที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตามหลังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องมีการกลั่นกรองความเห็นของอัยการโดยอัยการสูงสุดจะต้องเป็นผู้พิจารณาความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม อัยการเจ้าของสำนวนจึงแจ้งให้ทางตำรวจไปดำเนินการสอบสวนต่อแต่สุดท้าย ทางตำรวจก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องซึ่งพ้องกับความเห็นของอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติ
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังระบุด้วยว่า จริงๆกลไกในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการจนถึงศาล ควรจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ซึ่งในคดีนี้อัยการก็กลั่นกรองสำนวนของพนักงานสอบสวนว่ามีน้ำหนักพอฟ้องผู้ต้องหาได้หรือไม่ ซึ่งในคดีอื่นๆบางคดีโดยเฉพาะคดีที่เป็นคดีนโยบายหรือคดีที่ผู้ต้องหาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจกลไกในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจและอัยการก็มักรับลูกฟ้องคดีสู่ศาลแล้วให้ศาลไปยกฟ้องซึ่งเป็นการสร้างภาระให้ผู้ต้องหา
 
สุวรรณา หนึ่งในผู้ต้องหาระบุว่า หลังอัยการและตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เธอก็ยังเหลือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอยู่อีกสองคดีได้แก่คดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกที่จะพิพากษาในเดือนธันวาคมปีนี้กับคดีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่พัทยาซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้ที่อัยการและตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง สุวรรณาเห็นว่าคดีนี้จริงๆไม่ควรแจ้งข้อหาแต่แรกอยู่แล้วเพราะพวกเธอแค่อยากเลือกตั้งและแม้จะมีการสั่งไม่ฟ้องคดีแต่ที่ผ่านมาเธอและเพื่อนๆก็ต้องมาพบอัยการเพื่อฟังคำสั่งหลายต่อหลายครั้งเพราะอัยการเลื่อนนัดไปประมาณเกือบๆ 20 ครั้งทำให้เสียเวลา สุวรรณาระบุด้วย มันเป็นเรื่องตลกที่การเรียกร้องให้คสช.และรัฐบาลทำตามโรดแมปในการจัดเลือกตั้งกลับกลายเป็นเหตุให้พวกเธอถูกดำเนินคดี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะมีโรดแมปไปทำไม
 
ขณะที่พัฒน์นรี หรือแม่ของสิรวิชญ์หรือ "จ่านิว" นักกิจกรรมก็ระบุว่า เธอรู้สึกโล่งที่ในที่สุดคดีนี้ก็ยุติเสียที ในฐานะคนทำมาหากินเธอรู้สึกว่าคดีนี้ทำให้เสียโอกาสและรายได้ เนื่องจากบ้านเธออยู่มีนบุรีทุกครั้งที่ต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อฟังคำสั่งอัยการเธอจะเสียเวลาเดินทางไปกลับหลายชั่วโมงทำให้ไม่สามารถรับจ้างทำงานในวันนัดได้ แต่ปลายกฎว่าพอมาที่สำนักงานอัยการก็ได้แต่เซ็นรับทราบคำสั่งเลื่อนนัดซึ่งใช้เวลาไม่เกินสองสามนาที แต่ก็เป็นสองสามนาทีที่ทำให้เธอเสียโอกาสหารายได้ไปทั้งวัน พัฒน์นรีระบุด้วยว่าในวันเกิดเหตุเธอไม่ได้ยืนอยู่กับผู้ชุมนุมหรือมีส่วนร่วมใดๆในการชุมนุม เธอแค่มาดูแลลูก เผื่อว่าลูกถูกจับจะได้ตามไปที่สน.ได้ทั้นท่วงทีแต่ปรากฎว่าสุดท้ายก็มีหมายมาว่าโดนด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรหรือจะเพราะ "หน้ามันฟ้อง" ก็ไม่อาจทราบได้

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา