112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “บุญลือ” คดีคอมเมนต์เฟซบุ๊กเรื่องปฏิรูปกษัตริย์ ก่อนพิพากษา

เนื่องจาก #มาตรา112 อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำและสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายเอาพฤติการณ์ไปแจ้งเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีได้เลย

ดังนั้น คดีจำนวนไม่น้อยจึงริเริ่มขึ้นใน “สถานีตำรวจที่ผู้กล่าวหาสะดวก” ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องแบกรับภาระในการเดินทางไปเข้ารวมกระบวนการพิจารณาคดี ณ จังหวัดที่ได้มีการไปกล่าวโทษไว้

คดีของ “บุญลือ” เป็นหนึ่งในนั้น

“บุญลือ” เป็นชื่อสมมติ ของบัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ชาวจังหวัดสุโขทัย เขาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการ “คอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊ก”เรื่องลักษณะที่ดีของกษัตริย์และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รวม 3 ข้อความ โดยประชาชนคนหนึ่งในจังหวัดพังงาเป็นผู้กล่าวหา นั่นจึงทำให้บุญลือต้องเดินทางจากบ้านที่จังหวัดสุโขทัยไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ทุ่งคาโงก จังหวัดพังงา รวมระยะทางกว่า 1,185 กิโลเมตร 

แม้ในตอนแรก บุญลือจะให้การปฏิเสธและตั้งใจจะต่อสู้คดี แต่ในนัดสืบพยาน ภายหลังศาลเอ่ยปากบอกว่า “ไม่ต้องการที่จะลงโทษหนัก” เขาจึงปรึกษากับทนายและกลับคำให้การเป็น “รับสารภาพ” โดยศาลจังหวัดพังงานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 กันยายน 2565

ก่อนนาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึงในอีกไม่ถึง24 ชม.นี้ ไอลอว์ชวนมาทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของบุญลือให้มากขึ้น

(1) “บุญลือ” คือใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112 ?

o จำเลย: “บุญลือ” นามสมมติ บัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ ชาวสุโขทัย 

o โจทก์: กัลฐิตา ชวนชม ข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา

>> ตามคำฟ้องของอัยการ (ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564) ระบุว่า 

ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2563 บุญลือแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กตอบโต้กับบุคคลอื่น โดยมีคอมเมนต์ที่มีใจความว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นมีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของกษัตริย์และตั้งคำถามถึงพระราชกรณียกิจระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งหมด 3 ข้อความ 

จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้อัยการกล่าวหาว่า การกระทำของเขาทำให้เพื่อนและผู้ที่เข้าใช้เฟซบุ๊กคนอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร จึงขอให้ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

จากบทสัมภาษณ์เมื่อธันวาคม 2564 บุญลือเล่าว่า เขาเป็นคนชอบแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ชอบโต้เถียง ชอบหาข้อมูลหาเหตุผล และจุดเริ่มต้นของการถูกฟ้องร้องในครั้งนี้ก็มาจากการที่เขาไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เกี่ยวกับการชุมนุม19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง และเกิดการโต้เถียงกับกัลฐิตา (ผู้กล่าวหา) 

“เขาด่าผมด้วยคำที่หยาบคายมาก ผมโมโหเลยไปเรียกเขาว่า “ป้า” ทีนี้เขายิ่งโมโหเลยพิมพ์กลับมาว่า ต้องการอย่างงี้ใช่ไหม เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวไปเเจ้งความก่อน อยู่ใกล้สถานีตำรวจพอดี” บุญลือเล่าย้อนเหตุการณ์

ประมาณ 15 นาทีต่อมา กัลฐิตาก็ส่งหลักฐานที่เธอเเจ้งความและเบอร์โทรสารวัตรสอบสวนมาทางช่องข้อความส่วนตัวของบุญลือ

(2) จากสุโขทัยถึงพังงา ระยะทางกว่า “1,185 กิโล” เพื่อไปนัดคดี

แม้ว่าหลังจากนั้น บุญลือจะพยายามเจรจากับกัลฐิตาว่า เนื่องจากเขามีภารกิจต้องสอบ และหากโดนคดีก็จะไม่สามารถสอบเพื่อเป็นข้าราชการได้ โดยเขาเสนอทางเลือกว่าจะยอมลบคอมเมนต์ที่เคยแสดงความคิดเห็นให้ทั้งหมด ซึ่งกัลฐิตาบอกว่าตัวเธอนั้นให้อภัย เเต่เนื่องจากแจ้งความไปเเล้ว เขาจะต้องไปคุยกับตำรวจเองว่าต้องทำอย่างไรต่อ 

o 19 มกราคม 2564 : หมายเรียกถูกส่งมาถึงบุญลือ โดยระบุว่าเขาต้องไปให้ปากคำที่ สภ.ทุ่งคาโงก จังหวัดพังงา

o 5 กุมภาพันธ์ 2564 : บุญลือเดินทางจากบ้านเกิดที่สุโขทัยเป็นระยะทางกว่า 1,185 กิโลเมตร เมื่อถึงพังงา ทางทนายก็เข้าเจรจากับตำรวจ แต่กลับได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกันเพราะ “หัวหน้าสั่งมา”

o 14 มิถุนายน 2564 : พนักงานอัยการจังหวัดพังงามีความเห็นสั่งฟ้อง

บุญลือต้องเดินทางไปที่ศาลจังหวัดพังงา ระหว่างที่ทนายยื่นเรื่องขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ก็ให้เขาเข้าไปในห้องขังประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

o 6 กรกฎาคม 2565 : นัดสืบพยาน

เมื่อเริ่มการพิจารณาคดี ศาลถามบุญลือว่า “ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่” แต่บุญลือไม่ต้องการที่จะรับสารภาพและยืนยันขอต่อสู้คดี แต่เมื่อเริ่มการสืบพยานไปได้พักหนึ่ง ศาลก็ยังกลับมาสอบถามจำเลยอีกว่า “ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่” ซึ่งศาลไม่ต้องการที่จะลงโทษหนัก ทนายความของจำเลยจึงขอเวลาปรึกษากับตัวจำเลยก่อน 

ก่อนเที่ยงของวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 บุญลือตัดสินใจแถลงต่อศาล เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 22 กันยายน 2565

>> อ่านรายละเอียดคดีเพิ่มเติม

>> อ่านบทความ “กล่าวโทษ ม.112 ข้ามจังหวัด” ภาพสะท้อนปัญหาความผิดอาญาแผ่นดิน

(3) ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโดนคดี 112

บุญลือเป็นบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็เข้ารับเกณฑ์ทหาร และหลังปลดจากทหารไม่นาน เขาก็เริ่มหางานสอบนิติกรตามที่สิ่งตัวเองร่ำเรียนมา แต่การถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 ทำให้ชีวิตของบุญลือเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 

o ก่อนหน้านี้ บุญลือกำลังจะได้ทำงานเป็นเจ้าพนักงานสินเชื่อที่จังหวัดปทุมธานี และบริษัทก็โทรมาบอกให้เตรียมตัวเก็บของย้ายจังหวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็โทรมาแจ้งว่า “มีคนแจ้งความมาตรา 112” ทำให้ไม่สามารถรับงานดังกล่าวได้ เขาเล่าว่า ตอนครอบครัวเห็นหมายเรียก แม่ของเขาร้องไห้ ส่วนหน้าของพ่อก็เปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำ 

“มันเป็นช่วงที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว จากที่เคยตั้งความหวังไว้ว่าอยากทำงานประจำ สร้างตัวเพื่อให้พ่อแม่อยู่สบาย แต่ตอนที่รู้ว่าโดนดำเนินคดี รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกหมดความหวังแล้ว ยิ่งเขาเห็นน้ำตาพ่อแม่ คือหมดเเรงสู้ต่อเลย”

o เขาเล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากคนรอบตัวทราบข่าวก็ให้กำลังใจ เนื่องจากเพื่อนของเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมด ทุกคนต่างทราบว่าการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นอย่างไรและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ทั้งแฟนของเขา พ่อแม่ของเขาให้กำลังใจว่า “ไม่เป็นไร มันก็ผ่านไปแล้ว สู้กันต่อไป เราแค่ไปคอมเมนต์ในความคิดของเรา เราไม่ได้ไปฆ่าใครตาย” ซึ่งทนายของบุญลือก็บอกว่า “สู้ๆ สักวันความยุติธรรมมันจะต้องเกิดขึ้น”

“แต่พูดตรงๆ เลยคือผมก็ไม่รู้ว่าความยุติธรรมจะเกิดตอนไหน” หนุ่มสุโขทัยกล่าวทิ้งท้าย

>> อ่านบทสัมภาษณ์ “ชีวิตที่ไม่อาจเดินตามความฝันเพราะคดี 112”