112 ALERT! เปิดแฟ้ม “สุริยศักดิ์” คดีส่งข้อความผ่าน Line ก่อนพิพากษา

(1) สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล เป็นอดีตแกนนำนปช. ชาวจังหวัดสุรินทร์ ประกอบอาชีพค้าขาย ขณะถูกจับกุมอายุ 49 ปี คดีมาตรา 112 ของเขาเกิดขึ้นในยุค คสช. และเกิดขึ้นระหว่างการ “เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร” เริ่มแรกคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ “ศาลทหาร” ที่ผู้พิพากษาทุกคนเป็นทหาร

(2) ย้อนกลับไปในวันจับกุมเมื่อ 18 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 06.00 น. จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มีรถตู้ 2 คัน รถตำรวจ 1 คัน และรถฟอร์จูนเนอร์อีก 2 คัน ขับเข้าไปในซอยบ้านของสุริยศักดิ์ ก่อนจะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจากหลายหน่วย ทั้งหน่วยในกรุงเทพฯ และหน่วยจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนยาวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 5 นาย เข้าจับกุมและนำตัวสุริยศักดิ์ออกไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

(3) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า การจับกุมสุริยศักดิ์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ปฏิบัติการบุกค้นเก้าจุด” เพื่อทลายเครือข่ายอาวุธสงครามของ “โกตี๋” หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แนวร่วมนปช. ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ต่อมาถูกอุ้มหายไปยังไม่ทราบชะตากรรม

(4) สุริยศักดิ์ ถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้ายและครอบครองอาวุธปืนจากการชุมนุมในปี 2553 ร่วมกับผู้ต้องหาอีก 8 คน ประกอบไปด้วย ธีรชัย หรือระพิน อายุ 55 ปี, ประเทือง อายุ 58 ปี, ปาลิดา อายุ 62 ปี, บุญส่ง อายุ 54 ปี, จ.ส.อ.ธนโชติ อายุ 57 ปี, เอมอร อายุ 44 ปี, วันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ อายุ 56 ปี, อุดมชัย หรือแสนรัก อายุ 60 ปี 

(5) ต่อมา 17 กรกฎาคม 2560 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทุกคนจึงถูกปล่อยตัว แต่ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำ พนักงานสอบสวนจาก ปอท. เดินทางมาขอ “อายัดตัว” สุริยศักดิ์เพียงคนเดียว เพื่อดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า “คนนอกกะลา” ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2559

(6) สุริยศักดิ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลา 2 คืน ก่อนเจ้าหน้าที่จะไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง ท่ามกลางกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า สุริยศักดิ์ได้รับการประกันตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท นั่นแปลว่าเขาอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีนานเกือบ 2 ปี

(7) 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถูกย้ายไปที่ศาลยุติธรรม

(8 ) ผ่านไปนาน 5 ปี คดีของเขาเริ่ม “สืบพยาน” ที่ศาลอาญา เมื่อ 16-17 และ 25 สิงหาคม 2565 โดย พล.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช. ผู้ฟ้องร้อง เบิกความว่า “ได้รับเอกสารภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์มาจากตำรวจสันติบาล” ส่วนพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ตำรวจสันติบาล ก็เบิกความว่า “ได้รับภาพดังกล่าวมาจากสายลับ” 

(9) ทั้งนี้ หลักฐานที่โจทก์ใช้กล่าวหาเป็นเพียง “กระดาษหนึ่งใบ” ที่พิมพ์ภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เป็นภาพแชทไลน์ โดยเป็นภาพผู้ใช้ไลน์บัญชีที่ตั้งชื่อว่า “Suriyasak” ส่งข้อความคุยกันและมีข้อความกล่าวถึง “ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี” โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น และพยานโจทก์หลายคนก็เบิกความว่า “บัญชีไลน์ปลอมแปลงได้ง่าย อาจมีผู้ที่เอาภาพและชื่อของบุคคลอื่นไปตั้งบัญชีใหม่ได้” แต่สาเหตุที่ฟ้องจำเลยคดีนี้เพราะเห็นว่า รูปโปรไฟล์ในไลน์มีภาพรถยนต์ ซึ่งหมายเลขทะเบียนจดทะเบียนด้วยชื่อของจำเลย

(10) ด้านสุริยศักดิ์ต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ และตั้งแต่ก่อนถูกจับกุมก็ไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี ส่วนหลังได้ปล่อยตัวก็เริ่มใช้งานไลน์แล้ว แต่สายตาไม่ดีจึงใช้ในแท็บเล็ต และเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม 

ศาลนัดฟังคำพิพากษา 5 ตุลาคม 2565 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา

อ่านบันทึกสืบพยานและรายละเอียดคดีทั้งหมดได้ที่นี่

อัพเดทคำพิพากษา!

5 ตุลาคม 2565 ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 11.00 น. โดยมีคำสั่ง “ยกฟ้อง” ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์ 

ทั้งนี้ หน้าห้องพิจารณาคดี มีเพียง รปภ.ศาล 1 คนเท่านั้น ไม่มีตำรวจศาลมาประจำการเหมือนคดีการเมืองอื่นๆ โดยรปภ.ศาลแจ้งว่า อนุญาตให้เฉพาะจำเลย 

กับทนายเข้าฟังเท่านั้น อีกทั้งยังให้จำเลยมอบทรัพย์สินมีค่ากับญาติไว้ด้านนอก 

ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 20 นาที จากนั้นมีผู้คุมเรือนจำเดินออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อแจ้งผลคำพิพากษาให้ญาติที่มานั่งรอหน้าห้อง รวมทั้งแจ้งว่าตนมาปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น ขอให้สบายใจได้ 

เมื่อญาติได้ยินว่ายกฟ้อง ต่างก็ดีใจกันมาก จากนั้น สุริยศักดิ์และทนายได้ออกมายืนพูดคุยกับคนอื่นๆ โดยทนายกล่าวว่า ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอยู่ประเด็นหนึ่งคือการลุ้นว่า “อัยการจะอุทธรณ์คดีหรือไม่” และหากอุทธรณ์แล้วผลจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ในภาพรวม สุริยศักดิ์กล่าวว่ารู้สึกสบายใจเป็นอย่างมาก รู้สึกหมดทุกข์ที่ต้องทนมาหลายปี