อภิชาต: ชุมนุมต้านรัฐประหาร

อัปเดตล่าสุด: 11/05/2563

ผู้ต้องหา

อภิชาต

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สฤษฎิ์ จันทะราช พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6)

สารบัญ

อภิชาต ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯสี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

คดีนี้มีการสืบพยานทั้งหมดสามนัด ในวันที่ 11 และ 30 กันยายน 2558 และในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยมีการสืบพยานรวมหกปาก เป็นพยานโจทก์สองปากได้แก่เจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำการจับกุมและพนักงานสอบสวน ส่วนพยานจำเลยสี่ปากมีตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิชาการด้านนิติปรัชญา อาจารย์ของจำเลยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเพื่อนร่วมงานของจำเลยจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนจำเลยไม่ถูกต้องเพราะพนักงานสอบสวนจากกองปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ หลังศาลมีคำพิพากษาอัยการอุทธรณ์คดี

ในวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาใหม่เพราะเห็นว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนคดีจึงถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาใหม่วันที่ 19 ธันวาคม 2559

ในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอภิชาตมีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของคสช.และความผิดฐานมั่วสุมเกินกว่าสิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เพราะจำเลยทราบอยู่แล้วว่ามีการออกประกาศห้ามชุมนุมแต่ยังไปชุมนุม ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความเรียบร้อยในพื้นที่เกิดเหตุเบิกความยืนยันหนักแน่นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ปลุกเร้าให้ผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัตหน้าที่รักษาความสงบ พิพากษาจำคุกสองเดือนปรับเงิน 6,000 บาทแต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดหนึ่งปี  

 

    

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อภิชาต เป็นนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และอดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย 
 
อภิชาตเริ่มศึกษากฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งการชุมนุมทางการเมืองและการเสวนาทางการเมือง
 
อีกทั้งยังมีบทบาทโดดเด่นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในนามสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างข้อบังคับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการในการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับในเวลาต่อมา 
 
ปี2556 อภิชาตจัดตั้งสถาบันยุวชนสยาม โดยมี เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นรองประธานสถาบันฯ และมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา นอกจากนี้ อภิชาตยังเขียนบทความสนับสนุนประชาธิปไตย และ สังคมนิยม รวมถึง วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เกิดการปรับตัว โปร่งใส่ และ ตรวจสอบได้ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 215 ประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

23 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 17.00 น. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อภิชาตกับพวกประมาณ 500 คน ที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ชุมนุมคัดค้านการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยชูป้ายข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” พร้อมทั้งปลุกระดมให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น และโห่ร้องเจ้าหน้าที่ที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
 
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้ การกระทำของอภิชาติยังมีลักษณะเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งอภิชาตและพวกให้เลิกชุมนุมแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมหยุด ถือเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 90, 215, 216 และ 368 และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 และ 11
 

พฤติการณ์การจับกุม

อภิชาตถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 19.30 น.ภายหลังร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร โดยทหารคุมตัวอภิชาติขึ้นไป ขณะถูกทหารคุมตัวไปที่รถอภิชาตถือป้ายที่เขียนข้อความต้านรัฐประหารพร้อมตะโกนว่า "ไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร" (ดูคลิปเหตุการณ์ ที่นี่)

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

363/2558

ศาล

แขวงปทุมวัน

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูรายละเอียดคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของอภิชาตได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/576#detail

รายละเอียดคำพิพากษาคดีสมบัติ บุญงามอนงค์ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. http://freedom.ilaw.or.th/th/case/613 ที่จรัญอ้างถึง
 
สมบัติ บุญงามอนงค์ถูกคสช.เรียกรายงานตัวตามคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 แต่สมบัติไม่มารายงานตัว ในวันเดียวกัน คสช.ออกประกาศฉบับที่ 25/2557 กำหนดโทษผู้ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่หนึ่งถึงสาม เมื่อสมบัติถูกจับกุมจึงถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช.
 
ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาคดีนี้ในภายหลังว่า เนื่องจากประกาศคสช.ที่กำหนดโทษผู้ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ฉบับที่หนึ่งถึงสาม ออกมาหลังคำสั่งรายงานตัว จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้เพราะถือเป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง นอกจากนี้ประกาศฉบับที่ 25/2557 ก็กำหนดโทษทางอาญาอย่างจำเพาะเจาะจงกับคนกลุ่มหนึ่งคือคนที่มีชื่อตามคำสั่งฉบับที่หนึ่งถึงสามเท่านั้น จึงขัดกับหลักกฎหมายอาญาที่ต้องกำหนดโทษเป็นการทั่วไปไม่ใช่เฉพาะกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงยกฟ้องสมบัตในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวแต่ให้ลงโทษปรับ 500 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานแทน
 
 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 พฤษภาคม 2557
 
อภิชาตถูกจับกุมตัวหลังร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯหลังถูกจับกุมอภิชาตถูกส่งไปควบคุมตัวที่กองปราบเป็นเวลา 7 วันด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหา
 

ตามคำฟ้องในคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ของอภิชาตระบุว่า พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว และแจ้งข้อกล่าวหาให้อภิชาติทราบ เบื้องต้นให้การปฏิเสธ โดยระหว่างสอบสวน อภิชาตไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ แต่ถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
 
 

Apichat protest at BACC 23 May 2014

อภิชาติขณะชุมนุมที่หอศิลป์กรุงเทพ 23 พฤษภาคม 2557 ภาพจากประชาไท
 
24 เมษายน 2558
 
อัยการยื่นฟ้องอภิชาตต่อศาลแขวงปทุมวัน เบื้องต้นอภิชาตยื่นขอประกันตัวโดยไม่มีหลักประกัน แต่ศาลไม่อนุญาต อภิชาตจึงยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยใช้ตำแหน่งผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย ประจำสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นหลักประกัน ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
19 พฤษภาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลแขวงปทุมวัน นัดสอบคำให้การ อภิชาต ซึ่งพนักงานอัยการฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุม และความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร ตามมาตรา 215, 216 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา
 
อภิชาต ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเนื่องจากต้องการจะต่อสู้คดีว่าการแสดงออกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เวลา 9.00 น.
 
10 มิถุนายน 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลแขวงปทุมวัน นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีอภิชาตฝ่าฝืนประกาศคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่ห้องพิจารณาคดี 4 นอกจากคู่ความแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทและทีมงานของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในเวลา 9.50 น. 
 
คดีนี้โจทก์แถลงว่าจะสืบพยานรวม 3 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมและตำรวจที่รับผิดชอบคดีของจำเลย นอกจากนี้ก็ยื่นพยานเอกสารและพยานวัตถุ เช่น ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 รายชื่อคนที่ถูกกักตัวจากการร่วมชุมนุม ภาพถ่ายเหตุการณ์ รวมทั้งแผ่นวีซีดีบันทึกเหตุการณ์ประกอบสำนวน ทนายจำเลยขอทำสำเนาแผ่นวีซีดีบันทึกเหตุการณ์ อัยการบอกกับทนายจำเลยว่า ให้ไปทำสำเนาได้ที่ออฟฟิศของเขาในภายหลัง
 
ทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 8 ปาก ได้แก่ ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในที่เกิดเหตุ อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลย รวมทั้งนักวิชาการที่จะมาให้ความเห็นเรื่องสถานะทางกฎหมายของการใช้อำนาจคสช. ซึ่งประกาศที่ 7/2557 ออกมาก่อนหน้าที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า่ให้พล.อ. ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช.
 
ศาลขอให้ทนายจำเลยว่าขอให้ตัดพยานออกบางส่วนโดยเฉพาะนักวิชาการที่จะมาให้ความเห็นออก เพราะศาลจะให้น้ำหนักพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุมากกว่า หลังการหารือกับทนาย ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความรวม 5 ปาก
 
หลังอัยการยื่นบัญชีพยานหลักฐาน ทนายจำเลยก็จะยื่นพยานหลักฐานด้วย แต่ศาลบอกว่าจำเลยยังไม่ต้องยื่นก็ได้ เนื่องจา่กโจทก์ไม่ได้ขอดู จำเลยสามารถนำเอกสารหลักฐานเข้ามาในสำนวนตอนสืบพยานได้เลย ศาลอธิบายด้วยว่า การตรวจพยานหลักฐานหลักๆคือการตรวจของฝ่ายโจทก์ เพราะจำเลยผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะดูพยานหลักฐานที่จะใช้ปรักปรำตน แต่ฝ่ายจำเลย ไม่จำเป็นเปิดเผยต่อโจทก์ก่อนวันสืบพยาน
 
สำหรับการนัดสืบพยาน ศาลกำหนดให้มีการสืบพยานรวมสองวันทำการ สืบพยานโจทก์ 1 วันทำการ และสืบพยานจำเลย 1 วันทำการ ทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงว่าเวลาอาจไม่พอ ศาลตอบว่า ศาลเชื่อว่าสามารถซักพยาน 5 ปากในวันเดียวได้ แต่หากเวลาไม่พอจริงๆ ศาลจะพิจารณาเพิ่มวันให้ในภายหลัง 
 
หลังเสร็จกระบวนพิจารณา อัยการและทนายจำเลยขึ้นไปนัดวันสืบพยานร่วมกันที่ศูนย์นัดความ การสืบพยานโจทก์จะทำในวันที่ 11 กันยายน 2558 ส่วนพยานจำเลยจะสืบในวันที่ 30 กันยายน 2558 หลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยตัดสินใจยื่นพยานเอกสารเข้าไปในสำนวน เพราะเกรงว่า หากไม่ยื่นในวันนี้ ก็อาจไม่สามารถนำเอกสารเข้ามาในสำนวนได้
 
ขณะที่อภิชาต ก็ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆหลังออกจากห้องพิจารณาคดีว่า เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม ซึ่งตนจะสู้คดีอย่างเต็มที่ สำหรับเหตุที่เลือกสู้คดีแทนการรับสารภาพ ทั้งที่คดีลักษณะนี้ศาลมักจะรอการลงโทษจำเลย เป็นเพราะ เชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด
 
ประกาศอันเป็นเหตุแห่งคดีของตนเกิดก่อนมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพล.อ. ประยุทธ์ ประกาศซึ่งออกมา จึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้พลเมืองก็มีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่ตนทำก็เป็นไปเพื่อคัดค้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบ  
 
11 กันยายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลขึ้นพิจารณาคดีประมาณ 10.15 น. ในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสำนักข่าวประชาไท รวมถึงตัวอภิชาต
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ร.ท.พีรพันธ์ สรรเสริญ ผู้ทำการจับกุม

ร.ท.พีรพันธ์ เบิกความว่า รับราชการอยู่กองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ตำแหน่งนายทหารสารวัตรสืบสวน มีหน้าที่สอบสวนเกี่ยวกับวินัยทหาร พยานเล่าถึงวันที่ 22 พฤษภาคม ขณะนั้นมีประกาศกฎอัยการศึก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ประกาศยึดอำนาจการปกครอง จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พอประกาศยึดอำนาจเสร็จก็ออกประกาศ
 
ร.ท.พีรพันธ์จำไม่ได้ว่าประกาศกฎอัยการศึกก่อนหรือหลังการยึดอำนาจ แต่จำได้ว่ามีประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามบุคคลชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง พอมีประกาศฉบับนี้ก็มีทหารเข้าไปประจำจุดต่างๆเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย
 
ร.ท.พีรพันธ์เบิกความถึงเหตุการณ์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ว่า ประมาณ 18.00 น.ได้รับแจ้งจากทหารที่เข้าประจำจุดบริเวณหอศิลป์ ว่ามีกลุ่มประชาชนมาชุมนุมบริเวณ Sky walk หน้าหอศิลป์ ใกล้ห้างมาบุญครอง หลังได้รับคำสั่งให้นำทหารใต้บังคับบัญชา 4-5 นาย ขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีสนามเป้า – สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
 
เมื่อลงมาเจอกลุ่มผู้ชุมนุมที่ Sky Walk โดยในขณะไปถึงเห็นผู้กำกับ สน.ปทุมวันประกาศให้เลิกชุมนุมโดยแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย อีกประการหนึ่งสถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชฐานวังสระปทุม เกรงว่าเสียงของผู้ชุมนุมจะไปรบกวน เมื่อประกาศไปแล้วผู้ชุมนุมไม่ได้เชื่อฟัง กลับส่งเสียงโห่ร้องดังยิ่งขึ้น พร้อมถามว่า ทหารมาทำไม ?
 
ขณะร.ท,พีรพันธ์เดินฝ่าฝูงชนมีชาวต่างชาติเข้ามาแย่งปืน และมีลักษณะการต่อสู้ ทหารที่มาด้วยเลยเข้าชาร์จ คนต่างชาติเลยวิ่งหนี หลบไปทางสยามสแควร์
 
ร.ท.พีรพันธ์พบเห็นผู้ชุมนุมชูป้ายต้าน คสช.และการรัฐประหาร จากการสังเกตพบว่าผู้ชุมนุมมีหลายประเภท มีกลุ่มเลือดร้อน หัวรุนแรง พร้อมประจันหน้าทหาร โดยหลังชายต่างชาติหนีไปแล้ว ตนเห็นว่ามีผู้ชุมนุมคนหนึ่งเดินชูป้าย “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” พร้อมพูดปลุกระดมให้ผู้อื่นฮึกเหิม
 
ร.ท.พีระพันธ์เบิกความว่า จำเลยเป็นตัวเด่นมากในผู้ชุมนุม มีลักษณะเป็นแกนนำ ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุม เลยจับแขนจำเลยแล้วควบคุมตัวลงจาก Sky walk ไปทางวังสระปทุม ซึ่งมีรถทหารรออยู่แล้ว จึงควบตุมตัวจำเลยและมีผู้ชุมนุมตามมา กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามถามชื่อ รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นทหารควบคุมตัวจำเลยไปที่กองพลทหารม้ารักษาพระองค์ เพื่อสอบปากคำ ให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของจำเลย
 
ร.ท.พีรพันธ์เบิกความว่า จากการสอบสวนจำเลย ระหว่างควบคุมตามกฎอัยการศึก 7 วัน พบว่าจำเลยไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ จำเลยถูกควบคุมตัวที่ห้องพักผ่อนของทหารตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 จึงถูกส่งไปควบคุมตัวที่กองบังคับการปราบปราม โดยยังเป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
 
ร.ท.พีระพันธ์เบิกความต่อว่าวันที่ 29 พฤษภาคม 2557  ผู้บังคับบัญชาให้ตนไปแจ้งความร้องทุกข์จำเลย ในข้อหาขัดขืนคำสั่ง คสช.และกฎอัยการศึก นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้รับแจ้งจากบุคคลภายนอกทางเฟซบุ๊กว่า อภิชาต มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันฯและไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ตนจึงเรียนผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจำเลยด้วยกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
 
อัยการขออนุญาตศาลฉายวีดีโอภาพเหตุการณ์การชุมนุมหน้าหอศิลป์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ซึ่งปรากฏภาพจำเลย ขณะชูกระดาษ เอสี่  หลังฉายวิดีโอ อัยการแถลงว่าหมดคำถาม
 
หลังอัยการแถลงหมดคำถาม ศาลขอหารือกับฝ่ายจำเลย โดยให้อัยการออกไปรอข้างนอก ศาลพยายามโน้มน้าวฝ่ายจำเลยให้รับสารภาพ โดยบอกว่า คดีนี้เป็นคดีที่โทษไม่สูง ทั้งคสช.ก็เป็นรัฐฐาธิปัตย์แล้ว ขณะเกิดเหตุ ประกาศคำสั่งคสช. จึงมีสถานะเป็นกฎหมาย  แต่ทนายของอภิชาต และอภิชาต ยืนยันจะสู้คดีต่อไป ศาลจึงนัดสืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
หลังศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในช่วงบ่าย ทนายจำเลยเริ่มถามค้านว่า ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะยึดอำนาจ ประเทศไทย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช่หรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์รับว่าใช่ ทนายถามว่า ร.ท.พีรพันธ์เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ร.ท.พีะพันธ์ตอบว่าเชื่อมั่น
 
เมื่อถามว่า การทำรัฐประหารถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์ตอบว่าไม่ใช่การล้มล้าง ทนายถามว่า ก่อนการรัฐประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกฎหมายสูงสุดใช่หรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์รับว่าใช่
 
ทนายถามต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของจำเลย ด้วยใช่หรือไม่ และจำเลยย่อมมีสิทธิ์พิทักษ์รักษาสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่
 
ร.ท.พีรพันธ์มีสีหน้าไม่พอใจ ก่อนจะตอบว่า บุคคลย่อมมีทั้งสิทธิและหน้าที่ ร.ท.พีะพันธ์พูดต่อด้วยว่า “ต่อต้าน 112 นี่ทำหน้าที่ตรงไหน"
 
ทนายถามร.ท.พีรพันธ์ว่า ตอนคสช.ออกประกาศห้ามชุมนุม คำสั่งแต่งตั้งหัวหน้า คสช.ยังไม่ออกใช่หรือไม่ เพราะคำสั่งดังกล่าวออกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557  ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ วันที่ 26 พฤษภาคม 2557
 
ทนายถามต่อไปว่า การรัฐประหารถือว่าประสบความสำเร็จเมื่อใด ในอดีตมีการรัฐประหารหลายครั้ง หากทำไม่สำเร็จ ผู้ก่อการจะเป็นกบฏ ก่อนที่ร.ท.พีรพันธ์จะตอบคำถาม ศาลขัดจังหวะทนายจำเลย โดยบอกให้ทนายพยายามสืบในประเด็น ในฐานะที่พยานเป็นประจักษ์พยานผู้เห็นในเหตุการณ์ ศาลแนะนำทนายจำเลยว่า ไม่ควรสืบแบบครอบจักรวาล

ศาลบอกด้วยว่าจะไม่บันทึกคำถามของทนายที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คำถามที่ว่าการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรต้องประกาศเป็นพระบรมราชโองการหรือไม่ คำถามที่ว่า การที่จำเลยออกมาต่อต้านการรัฐประหาร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ รวมทั้งคำถามที่ว่า พันธกรณีหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศยังคงให้การรับรองการใช้สิทธิในการแสดงออกของจำเลย ระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับปี2550ถูกยกเลิก และรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังไม่ประกาศใช้ ใช่หรือไม่ 
 
ทนายถาม ร.ท.พีรพันธ์ว่า ในวิดีโอคลิป ไม่ปรากฎภาพหรือเสียงเจ้าหน้าที่มาห้ามหรือสั่งให้เลิกการชุมนุมใช่หรือไม่ และตัวรท.พีระพันธ์เองก็ไม่ได้ไปสั่งให้เลิกชุมนุมใช่หรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์ตอบว่าไม่ทราบ เพราะตนไปถึงที่เกิดเหตุในภายหลัง
 
ทนายถามว่า ร.ท.พีรพันธ์ การชุมนุมในวันเกิดเหตุ ไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธใช่หรือไม่ และไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงใช่หรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์รับว่าไม่มี  
 
ร.ท.พีรพันธ์เบิกความว่า การที่จำเลยชูภาพซึ่งพิมพ์ข้อความในกระดาษเอสี่ ว่า "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" ไม่ถือว่าเป็นการปลุกเร้าประชาชน แต่เมื่อจำเลยถูกจับก็ตะโกนว่า "กระดาษแผ่นเดียวทำไมต้องจับ" พร้อมทั้งพูดเรื่องกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพต่างๆ ร.ท.พีรพันธ์ถือว่าเป็นการปลุกเร้า
 
เนื่องจากร.ท.พีรพันธ์อ้างว่าเป็นผู้จับกุมตัวจำเลย ทนายจำเลยจึงนำภาพถ่ายขณะเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมจำเลยมาให้ยืนยัน แต่ปรากฎว่า ไม่มีภาพของร.ท.พีรพันธ์อยู่ในภาพนั้น 
 
ทนายถามร.ท.พีรพันธ์ในทำนองว่า ในที่เกิดเหตุมีคนจำนวนมาก เหตุใดจึงจับตัวจำเลย ร.ท.พีรพันธ์ตอบว่า เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นแกนนำปลุกปั่น ขณะที่คนอื่นดูไม่โดดเด่นเท่าจำเลย
 
ทนายถามว่า ร.ท.พีรพันธ์ว่า มีหนังสือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ที่ให้ไปบอกผู้ชุมนุมว่าให้เลิกชุมนุมหรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์ตอบว่าไม่มีหนังสือ มีเพียงการสั่งด้วยวาจา
 
ทนายถามให้ร.ท.พีรพันธ์ย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษร
 
ร.ท.พีรพันธ์เบิกความว่า มาทราบภายหลังว่าจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติและเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ
 
ร.ท.พีรพันธ์ตอบคำถามทนายจำเลยถึงพฤติการณ์ของจำเลยขณะร่วมชุมนุมว่า จำเลยไม่ได้โห่ร้อง ด่าทอ แต่ปลุกปั่นด้วยกระดาษเอสี่ที่ถือมา ระหว่างการจับกุม จำเลยไม่ได้แสดงท่าทีขัดขืน นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นผู้นำหรือสั่งการการชุมนุม ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง

อัยการถามว่า เหตุใด ร.ท.พีรพันธ์จึงคิดว่าจำเลยมีพฤติการณ์ปลุกเร้าประชาชน ร.ท.พีรพันธ์ตอบว่า ในขณะที่ถูกจับ จำเลยพูดเรื่อง สิทธิการชุมนุม ความไม่ชอบธรรม และการยึดอำนาจของทหาร
 
อัยการแถลงหมดคำถามติง เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากแรก
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ปากแรก ศาลสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ต่อทันที 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ร.ต.ท. ชลิท มณีพราว พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.ท.ชลิต เบิกความว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 กองปราบปรามฯ ได้รับตัวจำเลยไว้ พร้อมกับหนังสือส่งตัวจากกองพลทหารม้ารักษาพระองค์  ซึ่งขอให้กองปราบปรามฯควบคุมตัวจำเลยไว้ตามกฎอัยการศึก
 
ร.ต.ท.ชลิต เล่าต่อว่า หลังควบคุมตัวถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 รท.พีระพันธ์ได้มาดำเนินการแจ้งความในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตนได้ดำเนินการแจ้งสิทธิ์ และพิพม์ลายนิ้วมือจำเลย และสอบปากคำ โดยอภิชาตให้การปฏิเสธ และ รท.พีระพันธ์ได้ส่งภาพถ่ายจำเลยขณะเข้าร่วมชุมนุม หลังจากนั้นก็รวบรวมพยานหลักฐาน และได้สั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหาที่แจ้ง ส่งพนักงานอัยการเพื่อทำคำสั่ง
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายความถามว่า จำเลยให้การรับข้อเท็จจริง และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาหรือไม่ ร.ต.ท.ชลิต ตอบว่าจำเลยให้การว่าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
ร.ต.ท.ชลิต ยังเบิกความด้วยว่าคดีนี้กองบังคับการปราบปราม มีอำนาจในการดำเนินคดี เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนสนใจ ทนายถามต่อว่า คดีประเภทที่ประชาชนสนใจมีกำหนดไว้ที่ไหนบ้างหรือไม่? พยานตอบว่า ไม่มี แต่คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และมีหนังสือจาก คสช.ว่าคดีประเภทนี้ต้องรับไว้
 
การสืบพยานดำเนินมาตนถึงเวลาประมาณ 15.45 น. ศาลให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ ออกไปเป็นวันที่ 30 กันยายน 2558  ซึ่งจากที่ศาลนัดสืบพยานจำเลยในวันนั้น จะสืบพยานโจทก์ปากนี้ต่อ 
 
 
29 กันยายน 2558
 
ทนายของอภิชาต ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงปทุมวัน ขอคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ระบุเหตุผลว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของประกาศคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งคดี และมีท่าทียอมจำนนต่ออำนาจคสช. เมื่อการกระทำของจำเลยมีลักษณะคัดค้านไม่ยอมรับอำนาจคสช. ทัศนคติของผู้พิพากษาจึงอาจมีผลต่อการอำนวยความยุติธรรม
 
ระหว่างสืบพยานโจทก์ปาก ร.ท.พีระพันธ์ ผู้พิพากษาถามพยานทำนองว่าได้จับผู้ชุมนุมที่ปรากฎในคลิปเดียวกับจำเลยมาอีกหรือไม่ ทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้พิพากษาท่านนี้ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทุกคน 
 
และขณะช่วงถามค้านของทนาย ผู้พิพากษาไม่บันทึกคำถามของทนาย และไม่ให้พยานโจทก์ตอบคำถามค้าน เช่น คำถามว่า "การทำรัฐประหารถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่" ซึ่งเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อสู้ของจำเลย
 
จากการสืบค้นประวัติผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ฝ่ายจำเลยพบว่า เฟซบุ๊กของบุคคลที่ใช้ชื่อและภาพของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นภาพโปรไฟล์ เฟซบุ๊กบัญชีนั้น กดคลิกไลค์เพจ"ทหารปฏิรูปประเทศไทย" โดยไม่มีการกดไลค์เพจการเมืองอื่น โดยเพจดังกล่าวมีเนื้อหาสนับสนุนทหาร 
 
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดจำเลยเห็นว่า มีสภาพร้ายแรงและอาจกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม จึงขอคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า
 
"เมื่อศาลใดมีผู้พิพากษาแต่เพียงคนเดียว ผู้พิพากษานั้น อาจถูกคัดค้านด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในมาตราก่อนนั้นได้ หรือด้วยเหตุประการอื่นอันมีสภาพร้ายแรง ซึ่งจะทำให้การพิจารณาหรือพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป"
  
30 กันยายน 2558 
 
นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
 
ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องที่จำเลยคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงปทุมวันระบุเหตุผลในการยกคำร้องว่า ศาลแขวงปทุมวันเป็นศาลที่ไม่ได้มีผู้พิพากษาแต่เพียงคนเดียวในศาล คำร้องของจำเลยจึงไม่ตรงตามบทบัญญัติเรื่องคัดค้านอำนาจศาล ให้ยกคำร้อง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สองต่อเนื่อง  ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน
 
 11 กันยายน 2558 ร.ต.ท.ชลิตมาเบิกความต่อศาลแล้ว แต่การเบิกความยังไม่เสร็จสิ้น เพราะกว่าอัยการจะถามคำถามเสร็จก็เป็นเวลาเกือบ 16.00 น.แล้วและทนายจำเลยก็แถลงต่อศาลว่ามีคำถามที่จะต้องซักค้านพยานปากนี้หลายข้อ ศาลจึงสั่งให้นัดร.ต.ท.ชลิตมาตอบคำถามค้านอีกครั้งในวันนี้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ร.ต.ท.ชลิตตอบคำถามค้านทนายถึงการยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า ก่อนการรัฐประหาร ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2550 เป็นกฎหมายสูงสุด การยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช่วิธีการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว  สำหรับการต่อต้านการยึดอำนาจดังกล่าวโดยสันติ ร.ต.ท.ชลิตรับว่าประชาชนมีสิทธิทำได้ สำหรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคสช. เกิดขึ้นหลังวันเกิดเหตุแห่งคดีดังที่ทนายจำเลยถาม
 
สำหรับพฤติการณ์ของอภิชาตในวันเกิดเหตุ จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ขณะจำเลยถูกจับกุมพบว่า อภิชาตชูป้ายเขียนข้อความ "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" และเมื่อถุกจับกุมก็เพียงแต่ตะโกนว่า "เขาจับผมเพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว" โดยไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นผู้ปราศรัย นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฎว่าอภิชาตมีพฤติการณ์เป็นผู้สั่งการหรือรับผิดชอบการชุมนุม และตามคลิปก็ไม่ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่มีสั่งให้เลิกการชุมนุม 
 
สำหรับเหตุการณ์โดยรวมของการชุมนุมที่ปรากฎตามวิดีโอหลักฐาน ร.ต.ท.ชลิตเบิกความว่า ไม่มีเหตุรุนแรง ไม่มีการต่อสู้ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์ยั่วยุ 
 
ในทางคดี ร.ท.พีระพันธ์ สรรเสริญ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเพียงข้อหาเดียว สำหรับประเด็นที่ทนายของอภิชาตถามว่า ได้นำพยานมาสอบปากคำเพื่อยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่สั่งห้ามการชุมนุมแล้วอภิชาตไม่ทำตามหรือไม่นั้น ร.ต.ท.ชลิตรับว่าไม่ได้นำพยานมาให้ปากคำ 
 
สำหรับประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายระหว่างประเทศ ร.ต.ท.ชลิตเบิกความว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รับรองสิทธิของประชาชนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 สำหรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น ไม่ทราบว่ามีอยู่หรือไม่ แต่ทราบว่าหากประเทศไทยไปทำสัญญากับชาติใดก็ต้องปฎิบัติตามนั้น ส่วนเรื่องประกาศกฎอัยการศึก ร.ต.ท.ชลิตตอบทนายจำเลยว่า ไม่ได้มีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการ  
 
ตอบโจทก์ถามติง
 
ร.ต.ท.ชลิตตอบคำถามที่อัยการถามติงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมและพฤติการณ์ของอภิชาตว่า ตามคลิปวิดีโอมีประชาชนราว 200 – 300 คน ชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค ผู้ชุมนุมมีท่าทียั่วยุเจ้าหน้าที่ขณะที่ตัวอภิชาตก็มีพฤติการณ์คล้ายเป็นแกนนำถือป้ายให้ผู้ชุมนุมต่อต้านซึ่งหากประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายกันมาเห็นก็อาจมาร่วมชุมนุมมากขึ้น 
 
เกี่ยวกับการสั่งห้ามการชุมนุมนั้น ร.ต.ท.ชลิตเบิกความว่า ร.ท.พีระพันธ์(ยศขณะนั้น) ผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยให้ปากคำในชั้นสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม แม้คำให้การของร.ท.พีระพันธ์จะไม่ได้ระบุถึงการก่อความวุ่นวาย แต่จากการตรวจสอบคลิปวีดีโอพบว่าอภิชาตและผู้ชุมนุมกระทำความผิด จึงแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับอภิชาต โดยถือว่าการกระทำเกิดขึ้นหลังประกาศคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลสั่งให้นำพยานจำเลยปากแรกเข้าสืบต่อทันที
 
พยานจำเลยปากที่หนึ่ง จรัญ โฆษณานันท์ พยานผู้เชี่ยวชาญ
 
จรัญเบิกความต่อศาลถึงประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 61 ปี ประกอบอาชีพรับราชการเป็นรองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนวิชานิติปรัชญา สิทธิมนุษยชน และอาชญวิทยา 
 
จรัญเบิกความว่า การประกาศกฎอัยการศึกมีสองลักษณะ คือการประกาศกฎอัยการศึกเป็นการทั่วไปกับการประกาศกฎอัยการศึกเป็นบางพื้นที่ การประกาศกฎอัยการศึกเป็นบางพื้นที่ผู้บังคับบัญชาทหารในพื้นที่สามารถประกาศได้ แต่การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจและต้องมีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการ รวมทั้งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
 
จรัญเบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารว่า คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1153 – 1154/2495 วางแนวไว้ว่า ผู้เข้ายึดอำนาจจะมีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อประชาชนยอมรับอำนาจซึ่งส่วนตัวตีความว่าเมื่อไม่มีผู้ต่อต้านอำนาจแล้ว
ทนายจำเลยถามจรัญถึงการรัฐประหารในอดีตว่า หากผู้ก่อการยึดอำนาจไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น จรัญตอบว่าจะถูกดำเนินคดีฐานกบฎ
 
ทนายถามจรัญถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการที่เกิดขึ้นในอดีต จรัญเบิกความว่า ในปี 2536 ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ล่าสุดมีกรณีศาลแขวงดุสิตพิพากษา
 
การออกประกาศคสช.ฉบับที่ 29/2557 กำหนดโทษบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.บางส่วนย้อนหลัง เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบเพราะเป็นการกำหนดโทษย้อนหลังและเป็นการกำหนดโทษกับบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งขัดต่อกฎหมายอาญา
 
 
ทนายถามจรัญถึงการขัดขืนอำนาจรัฐโดยสันติของประชาชนว่ามีสิทธิทำได้หรือไม่ จรัญตอบว่า ประชาชนมีสิทธิไม่เชื่อฟังอำนาจรัฐหากเห็นว่ากฎหมายไม่มีความชอบธรรม โดยการแสดงออกซึ่งการต่อต้านอาจมีหลายระดับ ตั้งแต่วิพากษ์วิจารณ์ ชุมนุม การดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ชอบโดยสันติวิธี 
 
ทนายถามจรัญว่าภายใต้คสช.ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งการคัดค้านอำนาจรัฐได้หรือไม่ จรัญตอบว่าสามารถทำได้ โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 ให้อำนาจไว้ นอกจากนี้การคัดค้านอำนาจคสช.ก็อาจถือเป็นการใช้สิทธิในการปกป้องสิทธิของตนเองทั้งสิทธิในร่างกายและสิทธิในการเลือกตั้ง ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ให้โดยบอกว่าเป็นความเห็นของพยาน 
 
และภายใต้คสช.มีกฎหมายใดที่ประชาชนยังใช้อ้างอิงสิทธิเสรีภาพได้ จรัญตอบว่าประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา4 ก็ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ด้วย จรัญเบิกความต่อว่า หลังรัฐประหารศาลยุติธรรมคือผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของคสช.
 
การสืบพยานดำเนินมาถึงเวลา 12.30 น. ศาลจึงขอพักเที่ยงและให้ไปสืบพยานต่อในช่วงบ่ายในเวลา 13.30 น.
 
เวลาประมาณ 14.00 น. ศาลเริ่มสืบพยานต่อ
 
จรัญเบิกความต่อโดยพูดถึงรัฐธรรมนูญว่า ประกาศคำสั่งคสช.บางฉบับ เช่น ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตราสี่ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงต้องถือเป็นโมฆะ ทนายหมดคำถาม 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามจรัญว่า ความเห็นที่จรัญเบิกความต่อศาล เรื่องการคัดค้านหรือไม่อารยขัดขืนกฎหมายที่ไม่ชอบ เป็นความเห็นเชิงวิชาการซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายคนอื่นอาจเห็นต่างใช่หรือไม่ จรัญรับว่าใช่ อัยการถามว่าการยึดอำนาจของคสช.ถือว่าสำเร็จหรือไม่ จรัญตอบว่าตอนนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่ขณะเกิดเหตุน่าจะยังถือว่าไม่สำเร็จเพราะยังมีการต่อต้านอยู่
 
อัยการย้อนถามจรัญถึงตอนที่เบิกความถึงคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตที่ยกฟ้องสมบัติ บุญงามอนงค์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. ว่า ในคดีของสมบัติ ประกาศที่มีเนื้อหากำหนดโทษออกมาภายหลังจำเลยถูกเรียกรายงานตัว แต่ในคดีนี้ประกาศห้ามชุมนุมออกมาก่อนเกิดเหตุใช่หรือไม่ จรัญรับว่าใช่ อัยการถามจรัญว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายผู้ฝ่าฝืนกฎหมายต้องยอมรับโทษใช่หรือไม่ จรัญรับว่าใช่ อัยการถามจรัญว่าประกาศห้ามชุมนุมของคสช.ออกมาก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวใช่หรือไม่ จรัญรับว่าใช่ อัยการหมดคำถาม 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่ตอบโจทก์ว่าประกาศคสช.ฉบับที่7/2557 ออกหลังรัฐธรรมนูญ แต่หากประกาศมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร จรัญตอบว่าการออกประกาศ คสช. 7/2557 ออกโดยไม่ชอบธรรม ประกาศฉบับดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจฉบับนี้ประกาศโดยไม่ชอบ เพราะไม่ประกาศเป็นพระบรมราชโองการ เมื่อกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจประกาศฉบับที่7/2557ออกโดยไม่ชอบ ประกาศฉบับนี้ย่อมไม่ชอบด้วย ยิ่งเมื่อขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ยิ่งเป็นโมฆะ
 
ทนายจำเลยถามจรัญว่า ที่ตอบอัยการว่าการดื้อแพ่งต้องรับโทษทางกฎหมาย แต่หากกฎหมายออกโดยไม่ชอบจะเป็นเช่นไร จรัญตอบว่าเมื่อประกาศฉบับที่ 7/2557 ออกโดยไม่ชอบการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจึงไม่ถือเป็นความผิด ทนายจำเลยหมดคำถามติง
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานทนายจำเลยถามศาลว่าพยานปากนี้เป็นพยานหมาย ศาลจะจ่ายค่าเดินทางให้พยานได้หรือไม่ ศาลตอบว่าจ่ายให้ไม่ได้เพราะตามระเบียบจะจ่ายเฉพาะพยานหมายของอัยการเท่านั้น
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จศาลให้ทนายนำพยานจำเลยปากต่อไปเข้าสืบทันที
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
อภิชาตเบิกความตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 25 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานราชการที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
 
อภิชาตเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยนั่งรถตู้ออกจากที่ทำงานประมาณ 16.30 น.เพื่อไปต่อรถไฟฟ้าที่สถานีอนุสาวรีย์ชัย และเดินทางไปถึงหน้าหอศิลป์ในเวลาประมาณ 18.00 น. หลังจากนั้นจึงเดินทางไปที่หอศิลป์ฯ เมื่อทนายถามว่าไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์ฯทำไม อภิชาตตอบว่าไปเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารโดยเชื่อว่าประชาชนมีสิทธิคัดค้านการรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งไม่ชอบธรรม
 
ทนายถามอภิชาตว่าทราบถึงกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯได้อย่างไร อภิชาตตอบว่าทราบจากข้อความบนเฟซบุ๊ก ที่มีกิจกรรมเชิญชวนคนไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านรัฐประหาร  การไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้อภิชาตเบิกความว่าเดินทางไปคนเดียวไม่ได้นัดหมายกับใคร เมื่อไปถึงก็ไปยืนบริเวณสกายวอล์ก พบกับเพื่อนคนหนึ่งโดยบังเอิญจึงยืนคุยกันครู่หนึ่งก่อนแยกย้ายกัน เมื่อแยกจากเพื่อนก็หยิบป้ายที่เตรียมไว้ออกมาชู
 
ทนายถามอภิชาตว่า เมื่อไปถึงที่ชุมนุมมีคนมาร่วมกิจกรรมประมาณเท่าไหร่ อภิชาติตอบว่าขณะที่ไปถึงหน้าหอศิลป์ฯเป็นเวลาเลิกงานมีคนเดินผ่านไปผ่านมามาก บางคนก็หยุดถ่ายรูป จึงระบุไม่ได้ว่าผู้มาร่วมกิจกรรมจริง มีประมาณกี่คน 
 
ทนายถามอภิชาติถึงเหตุการณ์ขณะถูกจับกุม อภิชาตเล่าว่าหลังยืนชูป้ายได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็สังเกตเห็นทหารประมาณสี่ถึงห้านายเดินมาจากทางสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อเห็นทหารเดินมาผู้ชุมนุมบางส่วนเก็บป้ายที่ถืออยู่แต่ตัวอภิชาตยังชูป้ายต่อไป เมื่อทหารเดินมาถึงก็มีทหารนายหนึ่งจับแขนของตนเองพร้อมพูดว่า "ไปด้วยกัน" 
 
ทนายถามอภิชาตว่า ในบรรดาทหารที่เดินเข้ามามีร.ท.พีระพันธ์ สรรเสริญ ผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษอภิชาตต่อพนักงานสอบสวนรวมอยู่ด้วยหรือไม่ อภิชาตปฏิเสธว่าไม่มีแต่มีนายทหารคนหนึ่งซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นพ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ รวมอยู่ด้วย อภิชาตเล่าต่อว่าเมื่อถูกจับก็ตะโกนว่า "จับผมเพราะกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้นหรือ" อภิชาตเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างการถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้แจ้งข้อหาหรือแจ้งสิทธิใดๆให้ทราบ  
 
ทนายย้อนถามอภิชาตว่าระหว่างชุมนุมมีเจ้าหน้าที่มาบอกให้เลิกหรือไม่ อภิชาตตอบว่า ที่พยานโจทก์เคยให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ยุติการชุมนุมในเวลา 19.00 น. และ 19.30 น. ไม่เป็นความจริง ภาพและเสียงในคลิปวิดีโอก็ไม่มีบันทึกไว้
 
อภิชาตเบิกความถึงเหตุที่ออกมาร่วมชุมนุมเพิ่มเติมว่า ที่ออกมาชุมนุมเพราะเชื่อว่าการยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และในขณะเกิดเหตุพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ได้ยึดอำนาจสำเร็จอย่างแท้จริง และการแสดงออกก็เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ 
 
อภิชาตเบิกความต่อว่า ทราบว่ามีการประกาศแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ทนายหมดคำถาม 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามอภิชาตว่าติดตามข่าวสารการเมืองจากไหน อภิชาตเบิกความว่าปกติดูจากโทรทัศน์และวิทยุ อัยการถามว่าทราบเรื่องประกาศห้ามชุมนุมหรือไม่และทราบเมื่อไหร่ อภิชาตรับว่าทราบก่อนเข้าร่วมชุมนุม อัยการถามว่าในที่เกิดเหตุมีผู้มาชุมนุมเกินกว่าสิบคนหรือไม่ อภิชาตรับว่าเกินสิบคน อัยการถามว่าการกระทำของอภิชาตถือเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ อภิชาตตอบว่าไม่ใช่เพราะเป็นแต่การชูป้ายข้อความ "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" ไม่ได้ส่งเสียงเชิญคนมาร่วมชุมนุม
 
อัยการถามถึงสภาพการจราจรในช่วงที่เกิดเหตุ อภิชาตตอบว่าการจราจรเป็นไปอย่างปกติ ส่วนที่ภาพในคลิปวีดีโอ ที่มีคนลงไปเดินบนถนนน่าจะเป็นคนละเวลากับที่ตัวเขาไปร่วมชุมนุม อัยการถามว่าในวิดีโอปรากฎว่ามีเสียงเรียกชื่ออภิชาต อภิชาตตอบว่าเป็นเสียงรุ่นน้องที่เจอกันในที่ชุมนุม อัยการย้อนถามว่าจำหน้าทหารที่มาจับได้หรือไม่ อภิชาตรับว่าจำได้ อัยการถามอภิชาตว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่กำหนดโทษผู้ผ่าฝืนคำสั่งเบากว่าโทษตามประกาศฉบับที่ 7/2557 ออกหลังจากเกิดเหตุใช่หรือไม่ อภิชาตรับว่าใช่ อัยการหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายจำเลยถามว่า อภิชาตทราบว่ามีประกาศห้ามชุมนุมเหตุใดจึงไปชุมนุม อภิชาตเบิกความว่า ที่ไปร่วมชุมนุมเพราะเชื่อว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนจะทำได้และประกาศก็ออกมาโดยมิชอบ ทนายจำเลยขอให้อภิชาตชี้แจงกรณีที่ตอบอัยการว่ามีรุ่นน้องมาเรียกทั้งๆที่บอกว่ามาชุมนุมคนเดียว อภิชาตตอบว่าเป็นการเจอกันโดยบังเอิญ วันเกิดเหตุไม่ได้นัดใครต่างคนต่างมา ส่วนที่บอกว่ามีรุ่นน้องมาเรียกชื่อก็เพิ่งมาทราบว่าเป็นรุ่นน้องหลังได้ดูคลิป นอกจากนี้ที่เบิกความว่ามีคนมาชุมนุมเกินสิบคนก็ไม่รู้จักกับคนเหล่านั้น ทนายจำเลยหมดคำถาม
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ศาลอนุญาตให้สืบพยานเพิ่มอีกหนึ่งนัดโดยให้คู่ความนัดวันกันเอง   
 
5 พฤศจิกายน 2558
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
ศาลแขวงปทุมวันนัดสืบพยานจำเลยเป็นนัดสุดท้าย มีพยานสองปากมาเบิกความได้แก่ อาจารย์ประจำหลักสูตรที่อภิชาตเคยศึกษาและเพื่อนร่วมงานของอภิชาตจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 09.30 น. แต่เริ่มพิจารณาคดีในเวลาเกือบ 10.00 น. เพราะเครื่องบันทึกเสียงมีปัญหา หน้าบัลลังก์จึงต้องตามเจ้าหน้าที่ศาลมาแก้ไข
 
ก่อนเริ่มการสืบพยานปากแรก ศาลชี้แจงกับคู่ความว่าในวันนี้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่อยู่จึงต้องให้ผู้พิพากษาท่านอื่นมาสืบพยานแทน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม สามชาย ศรีสันต์
 
สามชายเบิกความตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 45 ปี ประกอบอาชีพรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
 
สามชายเบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งบัณฑิตไปเรียนรู้สภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท นักศึกษาที่เข้าศึกษาในหลักสูตรนี้จะเรียนในชั้นเรียนสามเดือน จากนั้นจะถูกส่งไปทำงานในองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิฯ 
 
สำหรับตัวอภิชาตเป็นนักศึกษาในหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปี 2556  ขณะเบิกความอภิชาตสำเร็จการศึกษาแล้ว ในขณะที่กำลังลังศึกษา อภิชาตเลือกไปทำงานที่องค์กรด้านสิทธิฯแห่งหนึ่งที่อำเภอช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี 
 
ในการทำงาน มีผลงานดีเด่นจากการช่วยผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจทะเบียนราฎร์ ในการพิสูจน์สถานะ เคยได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่นระดับชาติของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ สามชายเบิกความว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ทราบเรื่องอภิชาตถูกจับกุมจากสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งนั้นพยายามโทรหาแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ในช่วงที่อภิชาตถูกควบคุมตัวในเรือนจำทางวิทยาลัยเคยออกหนังสือรับรองสถานภาพของอภิชาตเพื่อใช้ยื่นประกอบการปล่อยตัว โดยขณะที่อภิชาตถูกควบคุมตัว อภิชาตอยู่ในช่วงของการแก้ไขงานวิจัยเพื่อขอจบการศึกษา ทางวิทยาลัยจึงออกหนังสือรับรองให้ใช้ยื่นประกอบการขอประกันตัวเพื่ออภิชาตจะได้ออกมาแก้ไขงานให้สำเร็จ
 
สำหรับความประพฤติ สามชายเบิกความว่า อภิชาตประพฤติดี ตั้งใจเรียนและกระตือรือล้นมีส่วนร่วมถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็น 
 
ทนายถามสามชายถึงการกระทำของเขาอันเป็นเหตุแห่งคดี สามชายเบิกความว่าประชาชนคนไทยควรมีสิทธิ์คัดค้านรัฐประหารและการออกมาคัดค้านรัฐประหารก็ถือเป็นหน้าที่ด้วย สำหรับบัณฑิตธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยก็จะปลูกฝังเรื่องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญรวมทั้งปฏิญาณตนว่าจะรักษารัฐธรรมนูญด้วย 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามสามชายว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ออกมาก่อนที่อภิชาตจะทำความผิดใช่หรือไม่ สามชายตอบว่าทราบว่ามีประกาศดังกล่าว
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
หลังสืบสามชายเสร็จ ศาลสั่งสืบพยานปากสุดท้ายต่อทันที
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ วรลักษณ์ ศรีใย เพื่อนร่วมงานของอภิชาต
 
วรลักษณ์เบิกความตอบศาลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่า ขณะเบิกความอายุ 43 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานของรัฐตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) สำหรับความเกี่ยวข้องกับคดีเป็นคนรู้จักของอภิชาตเพราะทำงานที่คปก.เช่นกันแต่อยู่คนละแผนก นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุก็เดินทางมาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับอภิชาต
 
วรลักษณ์เบิกความตอบทนายเกี่ยวกับการเดินทางมาที่หอศิลป์ฯกับอภิชาตว่า วันเกิดเหตุตั้งใจจะไปร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ พบอภิชาตอยู่ที่ลิฟท์ เมื่อสอบถามก็ทราบว่าจะเดินทางไปที่หอศิลป์กรุงเทพฯเหมือนกัน จึงนั่งรถตู้ไปด้วยกันแต่ก็เป็นลักษณะต่างคนต่างไป 
 
วรลักษณ์เบิกความว่า เมื่อไปถึงที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็เห็นคนจำนวนหนึ่งยืนอยู่บนสถานีรถไฟฟ้า บางคนชูป้าย บางคนตะโกน แต่ฟังไม่ออกว่าตะโกนว่าอะไรส่วนป้ายที่เขียนข้อความก็ไม่ได้สังเกตว่าเขียนว่าอะไร วรลักษณ์เบิกความว่า ยืนคุยกับอภิชาตที่หน้าหอศิลป์ประมาณห้านาทีหลังจากนั้นก็แยกย้ายกัน วรลักษณ์เบิกความว่า หลังแยกกับอภิชาตแล้ว จึงไปยืนอยู่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ส่วนอภิชาตยืนห่างออกไปประมาณ 50 เมตร มองจากระยะไกลเห็นอภิชาตยืนชูป้ายแต่ไม่มีพฤติการณ์ที่จะก่อความวุ่นวาย
 
วรลักษณ์เบิกความอีกว่า ออกจากบริเวณหน้าหอศิลป์ประมาณ 18.30 น. ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่อภิชาตจะถูกจับ ขณะอยู่ในที่ชุมนุม ไม่ได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศให้เลิกชุมนุมแต่อย่างใด ทนายถามว่า ที่วรลักษณ์ไปร่วมกิจกรรม ทราบหรือไม่ว่าคสช.เคยออกประกาศที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน วรลักษณ์ตอบว่าทราบ แต่เห็นว่าการแสดงออกคัดค้านรัฐประหารถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทำได้ นอกจากนี้วันเกิดเหตุก็ไม่มีลักษณะมั่วสุม เพราะผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมาในลักษณะต่างคนต่างมา ไม่มีนัดหมายล่วงหน้า ทั้งกิจกรรมเป็นไปอย่างสงบ คนที่ชูป้ายก็ยืนชู คนที่ตะโกนก็ยืนอยู่ตรงที่ของตัวเอง 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามวรลักษณ์ว่า เสียงตะโกน และข้อความบนป้ายที่ผู้ร่วมกิจกรรมชู เป็นข้อความต้านรัฐประหารใช่หรือไม่ วรลักษณ์ตอบว่า ไม่แน่ใจเพราะเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงดังอื้ออึงที่ต่างคนต่างตะโกนจับใจความไม่ได้ ส่วนป้ายก็ไม่แน่ใจว่าเขียนว่าอะไรเพราะไม่ได้ตั้งใจอ่าน อัยการถามว่าวรลักษณ์ไปร่วมกิจกรรมเพื่อต่อต้านคสช.ใช่หรือไม่ วรลักษณ์ตอบว่าไม่ได้ไปต่อต้านแต่เป็นการไปใช้สิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 
 
อัยการถามว่าวันเกิดเหตุมีคนมาร่วมกิจกรรมประมาณเท่าไหร่ วรลักษณ์ตอบว่าประมาณยากเพราะในพื้นที่มีทั้งผู้มาร่วมกิจกรรมและผู้ที่ผ่านทางไปมาแล้วหยุดดู แต่เท่าที่สังเกตคนที่ชูป้ายจริงๆไม่ถึง 50 คน อัยการถามว่าในที่เกิดเหตุมีความวุ่นวายหรือไม่ วรลักษณ์ตอบว่าไม่มีความวุ่นวาย อัยการถามวรลักษณ์ว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าเมื่อเดินทางกลับไปแล้วไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย วรลักษณ์ตอบว่าเมื่อกลับไปแล้วก็ไม่ทราบว่ามีเหตุวุ่นวายหรือไม่ อัยการถามวรลักษณ์ว่าทราบหรือไม่ว่าเมื่อกลับไปแล้วเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกชุมนุมหรือไม่ วรลักษณ์ตอบว่าไม่ทราบ
 
อัยการถามว่าทราบข่าวจากเรื่องอภิชาตถูกจับกุมได้อย่างไร วรลักษณ์ตอบว่า ทราบข่าวภายหลังว่ามีคนถูกจับ แต่ไม่ทราบว่าถูกจับเพราะอะไร 
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
หลังเสร็จกระบวนพิจารณา ทนายของอภิชาตแถลงว่าจะขอส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลแจ้งว่าให้ส่งภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ติดใจ และแจ้งนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 โดยระบุเหตุผลที่นัดฟังคำพิพากษาเป็นเวลากว่าสามเดือนหลังสืบพยานว่า ต้องรอให้ส่งคำแถลงปิดคดี
 
หลังสืบพยานวันสุดท้ายสิ้นสุด อภิชาตกล่าวถึงคดีของเขาสั้นๆว่าแม้เลือกสู้คดีเเล้วจะทำให้ชีวิตต้องประสบความยุ่งยากบ้างในการมาศาล แต่ก็ยินดีสู้คดีถึงที่สุดเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด คดีนี้หากรับสารภาพศาลก็คงให้รอการลงโทษจำคุกและตัวเองก็คงไม่ต้องลำบากในการมาศาล แต่หากทำเช่นนั้นก็จะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต  
 
11 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลา 09.30 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษา คดีอภิชาตชุมนุมฝ่าฝืนประการคสช.ฉบับที่ 7/2557

บรรยากาศรักษาความปลอดภัยที่หน้าศาลในวันนี้เป็นไปอย่างเข้มงวดมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำการอยู่หลายนาย โดยผู้ที่มาสังเกตการณ์คดีบางส่วนจะถูกเจ้าหน้าที่ถามว่าเป็นใครมาจากไหน นอกจากนี้เมื่อเดินเข้าไปในอาคารศาลเจ้าหน้าที่ศาลก็จะขอให้ผู้มาสังเกตการณ์คดีฝากกระเป๋าหรือโทรศัพท์ไว้ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาตราการเช่นนี้มาก่อน
 
บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีหมายเลข2 ตั้งแต่ช่วง 9.00 น. ตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจําประเทศไทย ตัวแทนจากสถานทูต สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค เยอรมัน ฝรั่งเศส ทยอยเดินทางมาที่ศาล นอกจากนี้ก็มีนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และองค์กรสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เนื่องจากห้องพิจารณาคดีของศาลแขวงปทุมวันมีขนาดเล็กเกินกว่าจะรองรับผู้มาสังเกตการณืคดีและผู้สื่อข่าวที่มีประมาณ 30 คน ผู้สังเกตการณ์บางคนจึงต้องยืนฟังคำพิพากษาขณะที่บางส่วนต้องรออยู่ข้างนอก
 

ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 09.40 น. ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษายกฟ้องอภิชาตโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้อง เพราะพนักงานสอบสวนจะมีเขตอำนาจเหนือคดีในกรณีท้องที่ที่รับผิดชอบ เป็นที่เหตุเกิดหรือภูมิลำเนาหรือท้องที่ที่จำเลยถูกจับกุม

คดีนี้เหตุเกิดและจำเลยถูกจับกุมในท้องที่สน.ปทุมวัน แต่พนักงานสอบสวนจากกองปราบเป็นผู้สอบ ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นถึงเขตอำนาจสอบสวนของร.ต.ท.ชลิต จึงถือว่าไม่มีการสอบสวนอย่างถูกต้อง พิพากษายกฟ้อง 

หลังอ่านคำพิพากษา ศาลเตือนทนายจำเลยถึงกรณีที่ทนายจำเลยเคยคัดค้านให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา โดยอ้างเหตุว่าผู้พิพากษามีความฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ให้ความเป็นธรรมกับจำเลย และไปบันทึกภาพหน้าเฟซบุ๊กที่ผู้พิพากษาไปกดไลค์เพจการเมืองเพจหนึ่ง มาใช้ประกอบคำร้องถอดถอนว่า ตัวผู้พิพากษาไม่มีเหตุติดใจอะไร แต่อยากเตือนไม่ให้ทนายจำเลยคิดเอาเองว่าผู้พิพากษาไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะตัวผู้พิพากษาได้เคยถวายสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธย จึงต้องทำงานอย่างเที่ยงธรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคู่ความอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้การเข้าไปดูหน้าเฟซบุ๊กลักษณะนี้ก็ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้พิพากษา

หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง รัษฎา มนูรัษฎา ทนายจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกขอบคุณผู้สื่อข่าวที่ให้ความสำคัญกับคดีนี้ ขอบคุณศาลที่พิพากษายกฟ้อง และขอบคุณจำเลยที่ตัดสินใจต่อสู้คดี หลังจากนี้อัยการยังมีสิทธิอุทธรณ์คดีใน 30 วันซึ่งหากไม่มีการอุทธรณ์คดีก็จะสิ้นสุด รัษฎายังกล่าวด้วยว่าผู้ที่แสดงความเห็นโดยสุจริตและไม่ได้ก่อความวุ่นวายไม่สมควรถูกดำเนินคดี
 
ขณะที่อภิชาต จำเลยในคดีให้สัมภาษณ์ว่า การแสดงความเห็นโดยสงบและเปิดเผยเป็นสิ่งที่ทำได้ และไม่ถือเป็นความผิด

การแถลงข่าวที่บริเวณด้านนอกกำแพงศาลของจำเลยและทนาย ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบที่คอยบันทึกภาพการแถลงข่าวโดยตลอด
 
17 มีนาคม 2559 
 
หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องอภิชาต เพราะการสอบสวนไม่ชอบเนื่องจากพนักงานสอบสวนจากกองปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลย เจริญเดช ศัลยพงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงหก(ปทุมวัน) อุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์โดยระบุว่า 
 
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ปรากฎจากคำเบิกความของร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนจากกองปราบปราม ซึ่งเป็นพยานว่า ต้นสังกัดของตนมีอำนาจสอบสวนเหตุที่เกิดในท้องที่เขตปทุมวันซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าร.ต.ท.ชลิตมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ด้วยการแสดงเอกสารหลักฐานการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น คลาดเคลื่อนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพราะ 
 
โจทก์อ้างเอกสารส่งต่างๆที่ระบุว่าร.ต.ท.ชลิตมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ต่อศาลแล้ว และจำเลยก็ไม่ได้คัดค้าน ได้แก่
 
ระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยอำนาจการสอบสวน (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2536 ซึ่งกำหนดให้กองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรรวมทั้งคดีที่ประชาชนสนใจ 
 
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งกำหนดว่ากองบังคับการปราบปรามมีหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่มีความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร
 
รวมทั้ง คำสั่งกองบังคับการปราบปราม ซึ่งระบุชื่อร.ต.ท.ชลิต เป็นหนึ่งในพนักงานสอบสวนที่มีหน้าที่สอบสวนบุคคลที่เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวมาควบคุมที่กองปราบปรามจากการทำความผิดตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก
 
นอกจากนี้ยังปรากฎตามคำเบิกความของร.ต.ท.ชลิตที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ร.ต.ท.ชลิตมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ 
 
โจทก์จึงขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา เพราะข้อเท็จจริงข้างต้น และพยานหลักฐานในคดี มีน้ำหนักมากพอที่จะลงโทษจำเลยแล้ว
 
11 ตุลาคม 2559 
 
ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ของอภิชาต นอกจากตัวอภิชาต ในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตสวีเดน ,สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน, และเพื่อนของอภิชาตที่มาให้กำลังใจ ศาลขึ้นบัลลังก์ ราว 11.00น. ก่อนอ่านคำพิพากษา
 
คดีนี้เดิมศาลแขวงปทุมวันซึ่งเป็นศาลชั้นต้นยกฟ้อง ให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ไม่มีอำนาจสอบสวนในคดี โดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดี เกี่ยวกับความชอบธรรมของประกาศคสช. และความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. วันนี้ศาลอุทธรณ์ตีความใหม่ว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนและสั่งฟ้องในคดีอาญาทั่วประเทศ รวมถึงคดีนี้ ฉะนั้นจึงขอยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่ 19 ธันวาคม 2559
 
หลังฟังคำพิพากษา ศาลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวอภิชาตไปคุมตังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล ระหว่างรอทำเรื่องประกันต่อไป
 
19 ธันวาคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ครั้งที่สอง)
 
เวลา 13.00 น. อภิชาตมาถึงห้องพิจารณา 2 ศาลแขวงปทุมวัน เพื่อฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัดหมาย นอกจากอภิชาตและทนายของอภิชาตอีกสองคนแล้วยังมีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทหนึ่งคนและเจ้าหน้าที่สถานทูตสวีเดนอีกหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
เวลาประมาณ 14.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาโดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมือง และความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นบทที่โทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือน ปรับเงิน 6000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
หลังฟังคำพิพากษาอภิชาตระบุว่าจะพุดคุยกับทนายเพื่อเตรยมการอุทธรณ์คดีต่อไป โดยประเด็นหลักที่อภิชาตติดใจคือเรื่องอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ว่าขณะเกิดเหตุซึ่งยังมีการต่อต้านของประชาชน ถือว่าคสช.ยึดอำนาจสำเร็จแล้วหรือไม่
 
20 กุมภาพันธ์ 2560
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายของอภิชาตอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ โดยยื่นอุทธรณ์ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายรวมหกประเด็นคือ
 
ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย แม้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จะอ้างระเบียบว่าด้วยอำนาจการสอบสวน ว่าคดีนี้เป็น “คดีที่ประชาชนชนให้ความสนใจ” จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม แต่พยานกลับให้การขัดแย้งกันเอง และจำเลยเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด
 
ประเด็นที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐฐาธิปัตย์ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของนักวิชาการกฎหมายส่วนข้างน้อยเท่านั้น แต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ถือว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย 
 
และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดรองรับอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ มีเพียงประกาศคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้เองโดยไม่ได้ผ่านความยินยอมของประชาชน  ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้
 
ประเด็นที่สาม การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ได้มีประกาศเป็นพระบรมราชโองการ ตามที่ความในมาตรา 2 ของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 กำหนดไว้

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ใช้ดำเนินคดีกับจำเลยออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้โดยไม่ชอบ จึงไม่อาจบังคับใช้กับจำเลยได้

นอกจากนี้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันเกิดเหตุ จึงไม่อาจบังคับใช้กับจำเลยได้

จำเลยเป็นนักกฎหมาย ทราบดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศฉบับที่ 7/2557 จึงออกไปคัดค้านการรัฐประหารอย่างสันติวิธี เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ และจำเลยมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550
 
ประเด็นที่สี่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก
 
ประเด็นที่ห้า พยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการกระทำจำเลยได้อย่างดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลย  แม้แต่บันทึกการควบคุมตัวก็ไม่ปรากฏชื่อของร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ แต่อย่างใด  คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง
 
การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประกาศฉบับที่ 7/2557  เนื่องจากการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติของจำเลย  ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง  แต่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ปราศจากความรุนแรง  อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมของจำเลยมีเพียงแผ่นกระดาษขนาด A4
 
ในระหว่างการจัดกิจกรรมของจำเลยนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
และจำเลยเห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2558 ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ เนื่องจากการยึดอำนาจนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และประชาชนมีสิทธิคัดค้านโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสันติวิธีและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
ประเด็นที่หก การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติกรรมปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม  หรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมมากขึ้น  เพราะในทางนำสืบของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานยืนยัน
 
อีกทั้ง ในการตีความกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเจตนาที่แท้จริงของจำเลยประกอบการวินิจฉัย  มาตรา 69 และมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองรับรองสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร  ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 
 
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง             
 
และขณะที่จำเลยถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้  เป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  ภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง หนึ่งวัน  ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสามารถยึดอำนาจได้หรือไม่ เพราะยังมีประชาชนออกมาต่อต้าน ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การพยานจำเลยปากจรัญ โฆษณานันท์ ที่ว่า  “…การยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร จากการศึกษาคำพิพากษาฎีกาที่ 1153-1154/2495 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การล้มล้างอำนาจเพื่อยึดอำนาจโดยใช้กำลังในเบื้องต้นอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่าจะสำเร็จเมื่อมีการยอมรับและไม่มีการต่อต้านรัฐประหาร"
 
30 สิงหาคม 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
เวลาประมาณ 10.00 น. อภิชาตมาถึงศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าศาลอุทธรณ์พึ่งส่งหนังสือด่วนมาว่าจะขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลา 9.00 น. โดยเหตุที่เลื่อนเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังทำคำพิพากษาไม่เสร็จ
 
16 พฤศจิกายน 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาในคดีนี้มีความซับซ้อน จึงยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ 


31 มกราคม 2561
 
นัดฟังพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
อภิชาตและทนายมาถึงห้องพิจารณาคดี 6 ศาลแขวงปทุมวันในเวลาประมาณ 9.30 น.เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าห้องพิจารณาเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์กลับแจ้งว่าศาลอุทธรณ์ยังพิจารณาคดีไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 จากนั้นจึงแจ้งอภิชาตและทนายว่าขอให้นั่งรอในห้องพิจารณาก่อนเพื่อให้ศาลสั่งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ยังสอบถามด้วยว่าผู้ที่มาคดีอภิชาตมีความสัมพันธ์กับจำเลยอย่างไร ทั้งนี้นอกจากอภิชาตและทนายของเขาแล้วยังมีตัวแทนจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับอภิชาต และมีฐิตารีย์ อดีตจำเลยที่เคยถูกดำเนินคดีพรบ.ความสะอาดฯ จากการร่วมกิจกรรมปะโพสต์อิทที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรีย์มาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย

ในเวลา 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และแจ้งว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนติดภารกิจ จึงให้ผู้พิพากษาท่านอื่นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทน จากนั้นศาลแจ้งว่าในวันที่ 26 มกราคม 2561 ศาลอุทธรณ์มีหนังสือมาถึงศาลแขวงปทุมวันว่า คดีของอภิชาตมีความซับซ้อน ศาลอุทธรณ์ยังพิจารณาคดีไม่แล้วเสร็จ ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น.

ทนายของอภิชาตแถลงต่อศาลว่าในนัดหน้าหากมีการเลื่อนนัดอีกขอให้แจ้งทางทนายจำเลยคนใดคนหนึ่งล่วงหน้าด้วย เพราะครั้งนี้ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทนายจำเลยต้องยกเลิกภารกิจอื่นเพื่อมาศาลในนัดนี้แต่ปรากฎว่ามีการเลื่อนนัด ศาลจึงสั่งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่าให้เขียนที่หน้าสำนวนคดีนี้ว่า หากมีการเลื่อนนัดอีกให้แจ้งทนายจำเลยทราบล่วงหน้า ทั้งนี้การเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งนี้ถือเป็นการเลื่อนนัดครั้งที่สามแล้ว

มีรายงานภายหลังด้วยว่าก่อนพิจารณาคดีนี้มีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทแจ้งกับเจ้าหน้าที่รปภ.ขณะแลกบัตรว่าจะมาฟังคำพิพากษาคดีอภิชาต เจ้าหน้าที่รปภ.ของศาลแจ้งว่าต้องทำหนังสือมาขออนุญาตก่อน เมื่อผู้สื่อข่าวคนนั้นแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่รปภ.ก็บอกว่าจะไปแจ้งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก่อน แต่ก็ไม่ได้กลับมาให้คำตอบอะไร ผู้สื่อข่าวประชาไทจึงไม่ได้ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี ผู้สื่อข่าวคนเดียวกันยังระบุด้วยว่ามีผู้สื่อข่าวจากไทยโพสต์และไทยรัฐที่มีความประสงค์จะขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีแต่ก็ไม่สามารถขึ้นมาได้
 
31 พฤษภาคม 2561
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
อภิชาตมาถึงที่ศาลแขวงปทุมวันเพื่อฟังคำพิพากษาตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 น. โดยมีเพื่อนของเขาสองคนและเจ้าหน้าที่จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์คดีนี้ด้วย ก่อนที่ศาลจะเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 9.30 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ขอให้ผู้มาฟังคำพิพากษาคดีนี้ทุกคนปิดโทรศัพท์และฝากไว้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์โดยแจ้งว่าเป็นนโยบายของศาลที่มีการใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2561
 
หลังจากนั้นศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นบางส่วนคือให้ยกฟ้องอภิชาตในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เพราะพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังได้ว่าอภิชาตมีพฤติการณ์มั่วสุมเพื่อก่อความวุ่นวาย ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอภิชาตมีความผิดแต่โทษจำคุกสองเดือนโดยให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปีที่ศาลชั้นต้นวางไว้หนักเกินกว่าพฤติการณ์แห่งคดีจึงให้ยกโทษจำคุก คงลงโทษปรับ 6000 บาทเพียงอย่างเดียว
 
28 สิงหาคม 2561
 
ทนายของอภิชาตให้ข้อมูลว่าทนายจำเลยยื่นฎีกาคดีแล้ว ขณะที่อัยการก็ฎีกาคดีด้วยเช่นกันและมีการปิดหมายฎีกาโจทก์ที่บ้านต่างจังหวัดของอภิชาตแล้ว
 
14 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีนี้เวลา 9.45 ในวันนี้ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น นักวิชาการชาวอเมริกันเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย หลังขึ้นบัลลังก์ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างย่อ ซึ่งมีใจความสำคัญคือพิพากษายืนว่าอภิชาตมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558  
 
หลังอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยแถลงว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/58 ถูกยกเลิกไปแล้วโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/61 ตามคำร้องซึ่งทางทนายจำเลยยื่นต่อศาลเมื่อวันที่  13 สิงหาคม 2562 ขอให้ศาลฎีกายกฟ้องอภิชาตเนื่องจากความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไปแล้ว 
 
ผู้พิพากษาศาลแขวงปทุมวันแจ้งกับทนายจำเลยว่าจริงๆน่าจะยื่นคำร้องมาให้ศาลก่อนหน้านี้เพื่อที่ศาลจะได้ส่งคำร้องพร้อมคำพิพากษากลับไปให้ศาลฏีกา แต่ต่อมาศาลแจ้งอภิชาตและทนายของเขาว่า 
 
เนื่องจากทางจำเลยทำคำแถลงเรื่องการยกเลิกกฎหมายเข้ามา ศาลจะปิดผนึกคำพิพากษาพร้อมแนบคำแถลงของฝ่ายจำเลยกลับไปให้ศาลฎีกาอีกครั้ง ในชั้นนี้จึงยังไม่ให้คัดถ่ายคำพิพากษาและไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ และแจ้งอภิชาตว่าให้รอศาลฎีกาออกหมายเรียกมาอีกครั้งหนึ่ง
 
18 ตุลาคม 2562 
 
อภิชาตให้ข้อมูลว่าศาลฎีกาส่งหมายเรียก สั่งให้เขาเข้าฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562
 
8 พฤศจิกายน 2562
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
อภิชาตมาถึงที่ศาลแขวงปทุมวันก่อนเวลา 9.00 น. เล็กน้อยเบื้องต้นในห้องพิจารณาคดีมีเพียงอภิชาตและทนายของเขาที่มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา จากนั้นเมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ได้ครู่หนึ่งก็มีนักกิจกรรมที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามอีกคนหนึ่งเข้ามาในห้องพิจารณาคดีเพื่อสังเกตการณ์ด้วย  
 
ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้สอบถามว่ามีผู้สื่อข่าวอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ หากมีขอให้ไปรอด้านนอกเจ้าหน้าที่ไอลอว์ได้แสดงตัวและแจ้งว่าติดตามการพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จึงเพียงแต่กำชับว่าห้ามใช้เครื่องอัดเสียงและให้ปิดเครื่องมือสื่อสารแต่สามารถนั่งฟังการพิจารณาคดีต่อไปได้
 
หลังศาลขึ้นบัลลังก์ได้แจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยสรุปส่วนคำพิพากษาฉบับเต็มให้อภิชาตไปคัดถ่ายสำเนาได้หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ จากนั้นศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งพิพากษายืนว่าอภิชาตมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงโทษปรับ 6,000 บาท โดยศาลฎีกาให้ความเห็นประกอบคำพิพากษาข้อหนึ่งว่า 
 
แม้จะมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ใช้ลงโทษจำเลยไปแล้ว แต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ที่ออกมายกเลิกคำสั่งดังกล่าว มีข้อยกเว้นว่าไม่ให้กระทบต่อการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว โดยคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ออกมาเพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่มีการเลือกตั้งได้แต่ไม่ได้มุ่งยกเลิกการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสมที่ประชาชนจะชุมนุมทางการเมือง
 
ทนายของอภิชาต จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า เบื้องต้นเข้าใจว่าศาลฎีกาจะยกฟ้องคดีนี้ ดังที่ศาลชั้นต้นทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมทยอยจำหน่ายคดีหรือยกฟ้อง จำเลยที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง นับตั้งแต่คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปในเดือนธันวาคมปี 2561จึงรู้สึกแปลกใจในผลของคดีนี้ 
 
ทนายของอภิชาตระบุว่า ในความเห็นของเธอการกำหนดว่า ไม่ให้กระทบกระเทือนการดำเนินคดีตามข้อ 2 น่าจะหมายถึงการดำเนินการทางคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นจับกุมให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ในการทำคำพิพากษา เมื่อมีการยกเลิกคำสั่งที่เป็นฐานความผิดไปแล้วก็น่าจะต้องยกฟ้อง แต่ในคดีนี้ศาลฎีกาน่าจะเห็นว่าข้อ 2 ของคำสั่งฉบับที่22/2561 ยกเว้นให้พิพากษาโทษจำเลยได้ต่อไป
 
ทนายของอภิชาตระบุด้วยว่า ประเด็นที่สำคัญในคดีอีกประเด็นหนึ่งคือการวินิจฉัยเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของศาลฎีกาโดยในคดีนี้ฝ่ายจำเลยฎีกาว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ถูกยกเลิกไปเมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าระหว่างเกิดเหตุคดีนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การชุมนุมในคดีนี้จึงเข้าข่ายข้อยกเว้นตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ก็ถือว่าศาลฎีกาได้นำประเด็นสถานะทางกฎหมายประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 หลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาวินิจฉัยแล้ว
 
การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรยกเว้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาถูกยกเลิกในวันที่ 1 เมษายน 2558 และในวันเดียวกันก็มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองมาบังคับใช้แทนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2558 ก็มีการออกพ.ร.บ.ชุมนุมมาอีกหนึ่งฉบับ โดยพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิด จึงต้องดูต่อไปว่าหากในอนาคตมีการต่อสู้เรื่องสถานะทางกฎหมายของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในคดีที่เหตุเกิดหลังมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ศาลจะนำเรื่องการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯมาวินิจฉัยในคดีเหล่านั้นอย่างไร

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบในชั้นพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังยึดอำนาจการปกครอง พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติขึ้นโดยพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และออกประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง 
 
จำเลยทราบว่ามีการประกาศยึดอำนาจการปกครองจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และทราบจากทางโซเชียลมีเดียที่มีการส่งต่อข้อความกันในเฟซบุ๊ค ว่า จะมีการรวมตัวกันคัดค้านการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ ที่หน้าหอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 จำเลยจึงเดินทางไปที่หอศิลป์ฯ 
 
ขณะที่จำเลยอยู่บนสกายวอร์ค บริเวณน้าหอศิลป์ฯ จำเลยหยิบป้ายที่เตรียมไว้มาชูประท้วงไม่เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณสี่ถึงห้าคน เดินมาจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติมายังจำเลยและควบคุมตัวจำเลยไป ก่อนจะส่งต่อให้พนักงานสอบสวน เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ จากนั้นจึงสอบปากคำจากจำเลยและจัดทำคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา
 
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ 

โจทก์มีร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กองกำกับการหนึ่ง กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความเป็นพยานได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรสอบสวนอยู่ที่กองกำกับการหนึ่ง กองบังคับปราบปราม มีร.ท.พีรพันธ์ สรรเสริญ กับเจ้าหน้าที่ทหารอีกหลายคนควบคุมจำเลยมาส่งมอบให้กับร.ต.ท.ชลิต โดยมีหนังสือของกองพลทหารม้าที่สอง รักษาพระองค์ มาประกอบการส่งตัว ร.ต.ท.ชลิต จึงรับตัวจำเลยไว้ 
 
ตามประกาศกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวจำเลยในกำหนดเจ็ดวัน โดยขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวจำเลยมาส่งมีการควบคุมตัวจำเลยไว้แล้วหนึ่งวัน เมื่อครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ร.ท.พีรพันธ์เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่าด้วยการกระทำมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป (คำสั่งฉบับที่ 7/2557 ที่จริงแล้วกำหนดห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินห้าคน) กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องหาให้การทั้งรับข้อเท็จจริงและปฏิเสธ 
 
ในการสอบปากคำร.ท.พีรพันธ์ในฐานะผู้กล่าวหา ร.ท.พีรพันธ์ส่งมอบภาพถ่ายที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมและภาพวีดีโอที่ถอดมาจากคลิปวีดีโอที่มีผู้ถ่ายไว้เป็นหลักฐานกับร.ต.ท.ชลิต ด้วย ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องจึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป 
 
นอกจากนี้โจทก์มี ร.ท.พีรพันธ์ สรรเสริญ เบิกความว่า เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 
 
การจะพิจารณาว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาจากอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแล้ว จะต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของตำรวจประกอบด้วย 
คดีนี้เป็นความผิดอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลแขวง จึงต้องนำมาตรา 16 และ มาตรา 18 ของประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในศาลแขวงด้วย 
 
ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 และ จะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งปรากฏว่า ความผิดตามที่ฟ้องอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการเบิกความของพยานโจทก์ปาก ร.ต.ทชลิต และการนำสืบของโจทก์ โดยมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแสดงเป็นพยานหลักฐาน ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่เขตปทุมวัน ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ และฟังไม่ขึ้นว่า ร.ต.ท.ชลิต พนักงานสอบสวน กองกำกับการหนึ่ง กองบังคับการปราบปราม มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้

จึงฟังไม่ได้ว่า มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้โดยชอบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหานี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง และคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประการอื่นอีก
 
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับที่ 2 

คดีนี้โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังยึดอำนาจการปกครองพล.อ.ประยุทธ์ได้ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้น และออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง  ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
 
ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ร.ต.พีรพันธ์ สรรเสริญ (ยศขณะเกิดเหตุ) จากกองพลทหารม้าที่สองรักษาพระองค์ได้รับแจ้งจากทหารผู้รับผิดชอบพื้นที่ว่ามีกลุ่มประชาชนมาชุมนุมที่บริเวณลานสกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ จึงได้นำกำลังทหารไปยังจุดเกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ปทุมวัน ประกาศทางไมโครโฟนให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมซึ่งมีจำเลยรวมอยู่ด้วยก็ไม่ปฏิบัติตามและเดินเข้ามาประจันหน้ากับร.ต.พีรพันธ์
 
จำเลยยังพยายามปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิมพร้อมทั้งชูป้ายเขียนข้อความ "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" ร.ต.พีรพันธ์ เห็นว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นแกนนำ จึงควบคุมตัวไปที่กองพลทหารม้าที่สองรักษาพระองค์จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะส่งตัวจำเลยไปควบคุมที่กองบังคับการปราบปรามจนครบกำหนดการควบคุมตัวด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557
 
หลังจากนั้นร.ต.พีรพันธ์ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยต่อร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ร.ต.ท.ชลิตแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยรับทราบ จากนั้นร.ต.ท.ชลิตจึงสอบปากคำพยาน รวบรวมหลักฐาน ก่อนสรุปสำนวนโดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย
 
จำเลยนำสืบว่า ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีการส่งต่อข้อความในเฟซบุ๊กว่าจะมีการรวมตัวกันที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร  จำเลยซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารจึงได้เดินทางมาในวันดังกล่าวพร้อมทั้งนำป้ายที่เตรียมไว้มาชูประท้วง
 
จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาจับกุมตัวจำเลยโดยที่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ นอกจากนี้ประชาชนก็มีสิทธิที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ทั้งการชุมนุมที่หอศิลป์ก็มีลักษณะเป็นการมาแบบต่างคนต่างมาและไม่มีความวุ่นวาย 
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบในชั้นพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ร.ท.พีรพันธ์ (ยศขณะเบิกความ) และร.ต.ท.ชลิต พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันเกิดเหตุ ร.ท.ชลิตได้รับรายงานว่ามีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่สกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติจึงได้มาตรวจสอบ
 
เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาประจันหน้า จำเลยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมได้เข้ามาประจันหน้าด้วย โดยจำเลยชูป้ายเขียนข้อความ "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" พร้อมทั้งตะโกนปลุกเร้าผู้ชุมนุม

ร.ท.พีรพันธ์เห็นว่าจำเลยมีลักษณะเป็นแกนนำ จึงนำตัวไปควบคุมที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ก่อนจะพาไปควบคุมตัวต่อที่กองบังคับการปราบปรามในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557
 
ร.ต.ท.ชลิตเห็นว่าร.ท.พีรพันธ์มีหนังสือจากกองพลทหารม้าที่ 2 มาแสดงพร้อมกับตัวจำเลยจึงรับตัวไว้ควบคุมตามกฎอัยการศึก

เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ร.ท.พีรพันธ์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยกับร.ต.ท.ชลิตในข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557  ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ รวมทั้งได้มอบภาพถ่ายจำเลยในที่เกิดเหตุไว้ด้วย ร.ต.ท.ชลิตได้ทำการสอบปากคำจำเลยและร.ท.พีรพันธ์ผู้กล่าวหา พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง
 
ร.ท.พีรพันธ์และร.ต.ท.ชลิตต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะมีเหตุปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ โดยเฉพาะร.ท.พีรพันธ์ผู้จับกุมซึ่งเบิกความเป็นขั้นเป็นตอนและสอดคล้องกับพยานหลักฐานไม่มีข้อพิรุธ 
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อำนาจการปกครองประเทศจึงตกอยู่แก่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์จึงสามารถอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกฎหมายสั่งบังคับใช้กับประชาชนเพื่อรักษาความสงบและทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ประกาศฉบับที่ 7/2557 ซึ่งออกมาภายหลังประกาศฉบับที่ 2/2557 จึงถือว่าออกมาโดยชอบและผู้ที่ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามที่มีประกาศกำหนดโทษไว้
 
แม้จำเลยจะต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิแสดงออกว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ชอบ ก็ไม่สามารถรับฟังหักล้างคำพยานโจทก์ได้ นอกจากนี้จำเลยยังตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยทราบว่ามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ห้ามไม่ให้ชุมนุมเกินกว่าห้าคน ก่อนที่จำเลยจะเดินทางไปชุมนุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
 
ในส่วนของความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เห็นว่าร.ท.พีรพันธ์พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อเดินทางมาถึงที่ชุมนุมก็ถูกผู้ชุมนุมโห่ไล่และเดินเข้ามาประจันหน้า ขณะที่จำเลยก็ถือป้ายเขียนข้อความ "ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน" พร้อมทั้งปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม ถือเป็นการต่อต้านไม่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองให้เกิดความปกติสุข  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
 
สำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร เห็นว่าโจทก์มีเพียงร.ท.พีรพันธ์ มาเบิกความว่าเห็นผู้กำกับสน.ปทุมวันประกาศให้เลิกการชุมนุมแล้วผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง แต่โจทก์ไม่ได้นำผู้กำกับคนดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุน คำเบิกความของร.ท.พีรพันธ์จึงไม่พอที่จะรับฟังข้อเท็จจริง ว่าผู้ชุมนุมได้รับทราบคำสั่งของผู้กำกับสถานีหรือไม่

ทั้งนี้ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งข้อ 12 มีการกำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนซึ่งมีองค์ประกอบความผิดเดียวกับประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่มีอัตราโทษที่ต่ำกว่า จึงต้องลงโทษจำเลยตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคุณกับจำเลย
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด พิพากษาจำคุกสองเดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี
 
หมายเหตุ คดีนี้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นสองฉบับ ฉบับแรกศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้องจำเลยเพราะเห็นว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจฟ้องคดี จึงไม่ถือว่ามีการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี ให้ยกฟ้องจำเลยโดยไม่ต้องวินิจฉัยในเนื้อหาสาระแห่งคดี 
 
ในเวลาต่อมาเมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีไปที่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนจำเลยจึงถือว่าคดีมีการสอบสวนโดยชอบแล้ว จึงสั่งให้ศาลชั้นต้นไปทำคำพิพากษาใหม่โดยวินิจฉัยในเนื้อหาสาระแห่งคดี
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ และศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยเพราะเหตุนี้ ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนจำเลยและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสั่งให้ศษลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดีแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำ จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การเข้าควบคุมอำนาจของคสช.ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่อยู่ในฐานะรัฐาธิปัตย์ที่จะออกกฎหมาย อีกทั้งการประกาศกฎอัยการศึกก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการ

ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าสถานการณ์ก่อนการเข้าควบคุมอำนาจของคสช.มีความแตกแยก และความรุนแรง แม้องค์กรที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งเช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภาจะพยายามประสานให้มีการเจรจาและมีการบังคับใช้กฎหมายแต่ก็ไม่เป็นผล คสช.จึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจ แม้การเข้าควบคุมอำนาจของคสช.จะไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อคสช.ควบคุมอำนาจสำเร็จก็มีการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 1/2557 ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและให้ข้าราชการปฏิบัติตามระเบียบดังที่เคยปฏิบัติมาต่อไปเว้นแต่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคสช. หลังจากนั้นสถานการณ์ในประเทศก็คลี่คลายและสงบเรียบร้อย 
 
เมื่อไม่มีการขัดขืนจากประชานชนส่วนใหญ่ในประเทศอีกทั้งคณะรัฐบาลที่รักษาการณ์อยู่ในขณะนั้นก็ไม่อาจขัดขวางการยึดอำนาจของคสช.ได้ จึงถือว่าการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารสำเร็จแล้ว คสช.ย่อมมีอำนาจออกประกาศคำสั่งอันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้บริหารประเทศเพื่อให้ตั้งอยู่ในความสงบได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึกมารองรับดังที่จำเลยอุทธรณ์

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองยังไม่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาในขณะเกิดเหตุ เห็นว่าประกาศคสช.ออกมาโดยไม่มีการระบุวันบังคับใช้ย่อมถือว่าประกาศดังกล่าวมีผลในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 จึงถือเป็นกฎหมายโดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งออกมาภายหลังและเป็นคุณกับจำเลยไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯที่จำเลยกล่าวอ้างไม่มีมาตราใดบัญญัติว่า การมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปไม่เป็นความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 จำเลยจึงไม่พ้นไปจากความผิด อุทธรณ์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ใช่การมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557 และเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่พลเมืองที่จะต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 มาตรา 69 และ 70 เห็นว่า

แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุมดังที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็รับรองบรรดาประกาศคำสั่งคสช.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดไว้ด้วยเช่นกัน ประกาศฉบับที่ 7/2557 จึงมีผลบังคับใช้ต่อไป การที่จำเลยอ้างบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในรัฐธรรมนูญโดยไม่พิจารณาหลักการที่เกี่ยวเนื่องกับมาตราอื่นๆด้วยจึงไม่ถูกต้อง
 
ส่วนที่จำเลยอ้างถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เรื่องหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดไปโดยผลของประกาศคสช.ฉบับที่ 5/2557 และ 11/2557 จำเลยย่อมไม่อาจยกบทบัญญัติดังกล่าวมาอ้างได้อีก2 ส่วนที่จำเลยอ้างว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นรัฐภาคีให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม เห็นว่า

ในกติกาดังกล่าวมีข้อกำหนดให้รัฐภาคีสามารถจำกัดสิทธิตามกติกาดังกล่าวได้เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งสถานการณ์ในประเทศก่อนการทำรัฐประหารของคสช. ก็อยู่ในสภาวะไม่เรียบร้อยตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงนับว่ามีความจำเป็นที่คสช.จำต้องออกประกาศคำสั่งที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานโจทก์ปาก ร.ท.พีรพันธ์ สรรเสริญ ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ คำเบิกความพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เห็นว่า

คดีนี้มีการนำสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจนมีข้อยุติแล้ว คดีไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ คงต้องวินิจฉัยเพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ปัญหาว่าคำเบิกความพยานโจทก์ปากร.ท.พีรพันธ์มีน้ำหนักแก่การรับฟังหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดี อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิม และมีการประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความสงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เห็นว่า

โจทก์มีเพียงพยานปากร.ท.พีรพันธ์มาเบิกความว่าจำเลยมีพฤติการณ์ดังกล่าว ในการถามค้านพยานโจทก์ปากเดียวกันก็เบิกความตอบทนายจำเลยว่าจำเลยชูป้ายและพูดข้อความว่า "แค่กระดาษแผ่นเดียวทำไมถึงต้องจับ" ซึ่งการกระทำดังกล่าวตามความเห็นของร.ท.พีรพันธ์เป็นการปลุกเร้า แต่เป็นเพียงความเห็นของร.ท.พีรพันธ์ 
 
ทั้งพยานโจทก์ปากร.ต.ท.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่าจากการตรวจสอบคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานได้ยินจำเลยพูดเพียงว่า "เขาจับผมเพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว" โดยที่จำเลยไม่ได้กล่าวปราศรัย ไม่มีการต่อสู้ขัดขืน พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มั่นคงพอฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์มั่วสุมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
 
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เพียงอย่างเดียว 
 
ทั้งนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีซึ่งเป็นเพียงความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก ทั้งการกระทำของจำเลยก็เกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่อาจจะมีผู้คนบางส่วนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคสช. เช่นตัวจำเลยที่มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบแห่งการรัฐประหาร ทั้งการกระทำของจำเลยก็เป็นไปโดยสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวจำเลยก็ไม่มีพฤติการณ์ขัดขืน
 
โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสองเดือน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป

พิพากษาแก้เป็นไม่ลงโทษจำคุกจำเลยและยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก คงลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 6,000 บาท
 
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา
 
คดีนี้โจทก์ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 
 
ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการฎีกาในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง โดยที่คดีนี้เข้าข่ายต้องห้ามฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  219 ที่กำหนดว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาโจทก์ในข้อนี้   
 
ที่จำเลยฎีกาว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนออกมาโดยไม่ชอบ เพราะออกโดยคณะที่ทำการยึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะให้การรับรองบรรดาประกาศคำสั่งคสช. แต่ก็เป็นการรับรองในบทเฉพาะกาล ซึ่งขัดต่อมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นบทหลัก ที่กำหนดรับรองเสรีภาพในการชุมนุม และยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งจำเลยยังต่อสู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 70 รัฐธรรมนูญ 2550 การวินิจฉัยว่าเมื่อคสช.ประกาศยึดอำนาจแล้ว
 
และจำเลยฎีกาว่า ออกประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเวลาหลังเกิดเหตุคดีนี้ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เห็นว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวต้องมีการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงก่อน จึงจะวินิจฉัยในข้อกฎหมายได้ และเมื่อคดีนี้เข้าข่ายต้องห้ามฎีกาในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อนี้  
 
ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 สิ้นผลไปแล้วเมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้กำหนดโทษต่อการชุมนุมทางการเมือง และการชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ เห็นว่า มาตรา 3 (6) พรบ.ชุมนุมฯ กำหนดยกเว้นไม่ให้การชุมนุมที่เกิดระหว่างมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือการชุมนุมเพื่อหาเสียงระหว่างมีการเลือกตั้ง การชุมนุมที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร การชุมนุมของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น 
 
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เป็นเงิน 6000 บาท
 

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา (ออกหลังจำเลยยื่นคำร้องว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่ใช้ฟ้องถูกยกเลิกแล้ว)
 
โจทก์ฎีกาคัดค้านเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์สามารถรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215 วรรคแรก เห็นว่าข้อนี้เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  219 ที่กำหนดว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาโจทก์ในข้อนี้  
 
จำเลยฎีกาในประเด็นแรกว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นประกาศซึ่งออกโดยกลุ่มบุคคลซึ่งเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และแม้มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และ มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศคสช. แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงบทเฉพาะกาลซึ่งขัดกับมาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการชุมนุม
 
บทบัญญัติทั้งสองจึงมีค่าบังคับเหนือกว่าบทเฉพาะกาล และจำเลยใช้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตาม ม. 69 และ ม.70 รัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวได้หมดสภาพบังคับเนื่องจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2557 และที่ 11/2557 ทำให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงและไม่มีสภาพบังคับแล้ว จะทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีที่ให้บังคับใช้เลย เพราะการพิทักษ์รัฐธรรมนูญย่อมเกิดขึ้นในห้วงเวลาการยึดอำนาจเช่นเดียวกับวันเกิดเหตุ
 
และจำเลยฎีกาในประเด็นที่สองว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คสช. ยึดอำนาจการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่รับรู้ทั่วไป การนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดความเป็นธรรมต่อจำเลย
 
เห็นว่า การที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาดังกล่าง ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นไปดังที่จำเลยหรือศาลอุทธรณ์กล่าวมาจริงหรือไม่  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาทั้งสองประเด็นของจำลัย
 
คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นที่สามว่า “โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง” เนื่องจากการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า
 
ปัญหาเรื่องอำนาจสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์นั้นศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยปัญหานี้มาแล้วในชั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาครั้งแรกให้ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องและได้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
 
ซึ่งในขณะนั้นจำเลยไม่ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้อง ปัญหานี้จึงยุติไปจำเลยไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในครั้งหลังไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยโดยเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
 
ในประเด็นที่สี่จำเลยฎีกาว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง สิ้นผลบังคับไปเนื่องจากมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นกรณีที่กฎหมายใหม่บัญญัติว่าการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ขึ้นไป ไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดอีกต่อไป

เห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา .3(6) บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้อง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้มีประกาศคสช. ฉบับที่ 2/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษพาคม 2557 เวลา 6.30 น. เป็นต้นไปประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุม ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกพุทธศักราช 2547 ม.8 และ ม.11 เป็นการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองในระหว่างที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก การที่จำเลยกับพวกชุมนุมทางการเมืองในระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก จึงเป็นเรื่องนอกเหนือไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ม.3 (6) ไม่สามารถอ้างได้ว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ได้ถูกยกเลิกไปโดยพ.ร.บ.ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยอ้างว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช.ได้อาศัยอำนาจตามความในม.265 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยให้ยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และเป็นการยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตามประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่โจทก์ฟ้องจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่ขอให้ลงโทษอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.2 ที่บัญญัติว่าให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดเนื่องจากกฎหมายที่บัญญัติภายหลังกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ม.29 บัญญัติว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระความผิดแล้วกำหนดโทษไว้

เห็นว่า ในประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง นอกจากกำหนดให้ยกเลิกความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ยังกำหนดอีกว่าการยกเลิกประกาศดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ดังนั้น ประกาศดังกล่าวจึงไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นอย่างอื่น ตามม.17 ประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญาม.2 มาใช้บังคับกับคดีนี้ได้  การลงโทษจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการลงโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่การกระทำของจำเลยบัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้แล้ว ตาม ม. 29 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กรณีไม่ได้เป็นอย่างที่จำเลยยื่นคำร้อง ให้ยกคำร้องของจำเลย

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เป็นเงิน 6000 บาท

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา