แคปหน้าจอไปฟ้อง! สรุปแนวการรับฟังหลักฐานการโพสข้อความในคดีม.112

ในภาวะที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง ประชาชนที่ยึดถืออุดมการณ์แตกต่างกันต่างมุ่งห้ำหั่นกันโดยการหยิบยกเอากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทำร้ายหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการนำข้อกล่าวหา “มาตรา 112” ซึ่งมีบทลงโทษหนักมาดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่าง ยิ่งเมื่อเป็นยุคที่การแสดงความคิดเห็นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ คดีจากการโพสต์ข้อความต่างๆ บนโซเชียลมีเดียก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในช่วงปี 2563-2566 คดีความฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับได้อย่างน้อย 286 คดี ซึ่ง 156 คดีหรือ “กว่าครึ่ง” ข้อกล่าวหาเกิดจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ โดย 141 คดีหรือ “เกือบครึ่ง” เป็นคดีที่ริเริ่มโดย “ใครก็ได้” ที่อ้างว่าพบเห็นข้อความเหล่านั้นไปกล่าวโทษให้ดำเนินคดี

เมื่อเกิดสงครามทางความเชื่อและอุดมการณ์ ฝ่ายที่อ้างตนว่าต้องการ “ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็รวมตัวกันปฏิบัติการอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยการ “สอดส่อง” เก็บข้อมูลผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” จากโซเชียลเพื่อมองหาช่องทางที่อาจใช้ดำเนินคดี

หลายต่อหลายคดีที่กลุ่มจัดตั้งทางการเมืองนำข้อมูลไปยื่นให้กับตำรวจ โดยมีหลักฐานเพียงแผ่นกระดาษที่พิมพ์ “ภาพถ่ายหน้าจอ” หรือภาพจากการ “แคป” หน้าจอโซเชียลมีเดียเท่านั้น หลายคดีผู้ถูกกล่าวหาก็รับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่หลายคดีผู้ถูกกล่าวหาก็ปฏิเสธว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความเหล่านั้น ทำให้ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักว่า ภาพถ่ายหน้าจอเชื่อถือได้แค่ไหนเพียงใด 

พยานหลักฐานคอมพิวเตอร์หาไม่ง่าย แต่ต้องทำให้รอบคอบที่สุด

ตามหลักวิธีการพิจารณาคดีอาญาโดยทั่วไป จำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และโจทก์หรือผู้กล่าวหาเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์จน สิ้นสงสัย” ว่าจำเลยนั้นกระทำความผิดจริง ศาลจึงจะสั่งลงโทษจำเลยได้

แต่ในคดีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ การจะแสวงหาหลักฐานทางคอมพิวเตอร์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เขียนข้อความ และกดโพสต์ข้อความด้วยตัวเองโดยมีเจตนากระทำความผิดเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ฝ่ายโจทก์จึงมีหน้าที่พิสูจน์โดยนำเสนอพยานหลักฐานเท่าที่สามารถหาได้ตามความสามารถของเทคโนโลยีที่มีอยู่ อย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เข้าใกล้ตัวจำเลยได้มากที่สุด และให้ศาลเป็นผู้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเอง 

หลายกรณีที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองกล่าวหาให้ดำเนินคดี โดยใช้หลักฐานเพียง “ภาพถ่ายหน้าจอ” ที่ได้มาโดยการ “แคปเจอร์” จากหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ และก็กล่าวอ้างว่า เมื่อพบเห็นข้อความจึงถ่ายภาพหน้าจอไว้ก่อนพิมพ์ออกมาเป็นรูปภาพบนกระดาษและนำไปยื่นให้ตำรวจ ซึ่งตำรวจก็จะได้รับหลักฐานเพียงภาพในกระดาษเท่านั้น

ภาพถ่ายหน้าจอ” ที่ถูกพิมพ์ออกมาบนกระดาษ โดยไม่มีความเชื่อมโยงถึงความมีอยู่จริงของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และไม่เชื่อมโยงกับผู้ถูกกล่าวหา ย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการพิสูจน์การกระทำความผิดได้  เพราะข้อมูลของ “ภาพถ่ายหน้าจอ” จะถูกบันทึกเป็นไฟล์ภาพ ก่อนจะพิมพ์ออกมาสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความได้ไม่ยาก โดยอาจใช้โปรแกรมตัดต่อภาพ เช่น Photoshop หรือโปรแกรมพื้นฐานง่ายๆ อย่าง Microsoft Word หรือ Microsoft Powerpoint หรือโปรแกรมสำหรับจัดเก็บและจัดการรูปภาพในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลักฐานถูกเก็บและนำเสนอโดยคนที่มีสาเหตุขัดแย้งกันมาก่อน

บางกรณีที่ผู้กล่าวหา หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรอบคอมมากขึ้น ก็อาจใช้ความพยายามเข้าไปตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้อความนั้นๆ บนโลกออนไลน์ ตรวจหาบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้โพสข้อความนั้นๆ และหาความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจำเลย เช่น ประวัติส่วนตัว ภาพถ่าย หมายเลขโทรศัพท์ ประวัติการโพสข้อความอื่นๆ หรือหาพยานที่รู้เห็นคนอื่นๆ เพื่อระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียบัญชีที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ 

แต่ในทางเทคนิคคอมพิวเตอร์การแสวงหาหลักฐานทางคอมพิวเตอร์เพื่อพิสูจน์ตัวผู้กระทำความผิดมีวิธีการขั้นตอนที่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบและตำรวจมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ โดยเริ่มต้นอย่างน้อยโดยการเก็บข้อมูลที่ระบุแหล่งที่อยู่ของข้อความนั้นๆ หรือที่เรียกว่า URLs (Uniform Resource Locator) และตำรวจยังมีอำนาจตามพ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 (2) (3) ที่จะเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อทราบหมายเลข IP Address ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ชื่อและที่อยู่ของเจ้าของหมายเลข IP Address นั้น รวมทั้งอำนาจตามมาตรา (5) (6) ที่จะตรวจยึดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ต้องสงสัย เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานเกี่ยวกับการเข้าใช้งานบัญชีโซเชียลมีเดียและการโพสต์ข้อความด้วย 

หากฝ่ายผู้กล่าวหาและตำรวจไม่ได้ใช้ความพยายามแสวงหาพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบการดำเนินคดีเลย ลำพังเพียง “ภาพถ่ายหน้าจอ” อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์จน “สิ้นสงสัย” ได้ว่าจำเลยโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ 

กล่าวหาอย่างกว้างขวาง ไม่ได้รวบรวมหลักฐานให้รอบคอบ

ในสถานการณ์ที่มีกลุ่มจัดตั้งทางการเมือง เช่น เพจผู้กองปูเค็ม หรือ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ ที่เร่งสร้างผลงานโดยการกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินคดีมาตรา 112 ให้มากที่สุด และหลายกรณีเป็นการจงใจกลั่นแกล้งริเริ่มคดีในพื้นที่ห่างไกล โดยมอบหมายให้สมาชิกกลุ่มที่อยู่จังหวัดชายแดนเป็นผู้กล่าวหาแทนคนอื่น เช่น กรณีของพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ที่ริเริ่มคดีไว้ที่อ.สุไหงโกลก .นราธิวาส อย่างน้อย หกคดีกระบวนการนี้ทำให้การเก็บรวบพยานหลักฐานไม่ละเอีดรอบคอบ

คดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความออนไลน์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากระหว่างปี 2563-2566 ดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนธรรมดาไม่มีชื่อเสียง ไม่ใช่แกนนำการชุมนุม และถูกกล่าวหาโดยคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วหลักฐานสำคัญมีเพียง “ภาพถ่ายหน้าจอ” ที่พิมพ์บนกระดาษนำไปยื่นต่อตำรวจ และหลายคดีภาพนั้นถูกตัดแต่งมาก่อนแล้ว ทั้งการยืดหดขนาดภาพ การขยายขนาดภาพ การ “ครอป” หรือตัดข้อความบางส่วนออก ทำให้หลักฐานเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือลดลง

มีคดีจำนวนมากที่ตำรวจรับเรื่องไว้และไม่ได้ดำเนินการตั้งข้อหากับผู้ใดต่อ และมีคดีจำนวนมากที่เมื่อรับเรื่องแล้วตำรวจก็ไปทำการสืบสวนต่อจนได้หลักฐานเพิ่มเติมก่อนเริ่มดำเนินคดี เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องรับพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์เป็นกระดาษมาแล้วอย่างระมัดระวังว่าจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 จำเลยหลายคนยืนยันปฏิเสธในชั้นศาลว่าพวกเขาไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกผู้เห็นต่างทางการเมืองใส่ร้าย ไอลอว์ได้สนับสนุนความรู้เกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนด้วยหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประสานงานให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาเป็นพยานเบิกความในชั้นศาล อย่างน้อย เก้าคดี ทำให้สร้างบรรทัดฐานการรับฟังพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นได้หลายคดี

ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่เชื่อหลักฐานโจทก์ 5 คดี

มีอย่างน้อยหกคดีที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง โดยฝ่ายโจทก์มีเพียง “ภาพถ่ายหน้าจอ” เป็นหลักฐานสำคัญ หลังศาลพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว พิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่อาจพิสูจน์จน “สิ้นสงสัย” ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ดังนี้

1. คดี “วารี” ศาลจังหวัดนราธิวาส 

ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาในคดี ของ ‘วารี’ (นามสมมติพนักงานรับจ้างอิสระ วัย 23 ปี ชาวจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาที่ สภ.สุไหงโกลก 

ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของจำเลยจริง ตามรูปในทะเบียนราษฎรและรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่เหมือนกัน ประกอบกับเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกโพสต์บนหน้าบัญชีเฟซบุ๊กกับเบอร์โทรศัพท์ที่จำเลยและญาติของจำเลยเคยให้การไว้ก็เป็นเบอร์เดียวกัน แต่พยานโจทก์ยังไม่พอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะพยานโจทก์มีผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวที่เป็นผู้เบิกความว่าจำเลยโพสต์จริง แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา พยานโจทก์จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวตามฟ้อง

ต่อมา 26 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยให้เหตุผลว่า การที่พสิษฐ์นำภาพไปปรับแต่งด้วยโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วจัดพิมพ์ออกมานั้น ไม่อาจมั่นใจได้ว่าข้อมูลภาพที่ถูกปรับแต่งจะยังคงเหมือนกันกับ ‘ต้นฉบับ’ ที่แสดงในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เมื่อพสิษฐ์นำเอกสารส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน พสิษฐ์ก็ไม่ได้มอบ ‘ไฟล์ภาพต้นฉบับ’ ที่ Capture ไว้ในโทรศัพท์มือถือแก่พนักงานสอบสวนด้วย พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ และก็ไม่มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อมาตรวจสอบ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังคงมีความเคลือบแคลงอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

2. คดีพิพัทธ์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 

26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการอ่านคำพิพากษาในคดีของพิพัทธ์ (สงวนนามสกุลหนุ่มวัย 21 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมใส่ข้อความแทรกบนภาพ สองประโยค ในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” โดยคดีนี้มีอุราพร สุนทรพจน์ เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งนอกจากคดีนี้แล้วอุราภรณ์ยังแจ้งความคดีมาตรา 112 ที่ สภ.บางแก้ว อีกไม่ต่ำกว่า ห้าคดี

ศาลเห็นว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพหน้าจอ (Capture) ของโพสต์มาจากกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” กับหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย นำมารวมกันก่อนปรินท์ภาพออกมา จึงไม่ใช่สิ่งพิมพ์ออกจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า ภาพหลักฐานดังกล่าวที่ผู้กล่าวหานำมาแสดง สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อได้ รวมถึงพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูล และปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด และใช้อุปกรณ์อะไรขณะกระทำผิด จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้เหตุผลว่า ทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง โดยไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส และโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง มีเพียงพยานปากผู้กล่าวหารู้เห็นเพียงคนเดียว ซึ่งพยานปากนี้เคยแจ้งความให้ดำเนินคดีบุคคลอื่นในลักษณะเดียวกันจึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ บุคคลอื่นสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่นำโปรไฟล์และภาพมาตัดแปะได้ 

3. คดีพรชัย ศาลจังหวัดยะลา

15 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดยะลาอ่านคำพิพากษาคดีของ พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกาะญอวัย 38 ปี ชาวแม่ฮ่องสอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์คลิปวิดีโอภาพตนเองพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊ก รวมทั้งหมด สามโพสต์ คดีนี้มีวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหา

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอจำนวนหนึ่งโพสต์ ส่วนข้อความอีกสองโพสต์นั้น ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดยศาลเห็นว่า ผู้กล่าวหามีเพื่อนเป็นผู้ส่งภาพมาให้ จึงไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าภาพถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่า ภาพตามเอกสารพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นการถ่ายมาจากหน้าจอโทรศัพท์และภาพมีความผิดปกติ คือมีเส้นขีดสีแดง ซึ่งน่าจะมีการทำเพิ่มเติมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอีกภาพหนึ่ง ก็เป็นการนำ 2 ภาพมารวมกัน และมีการลบภาพบางส่วนออก แสดงว่าไม่ใช่ภาพต้นฉบับ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีพิรุธสงสัยว่ามีโพสต์ดังกล่าวอยู่ในเฟซบุ๊กจริงหรือไม่

ต่อมา 4 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

4. คดี “ชัยชนะ” ศาลจังหวัดนราธิวาส

21 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ชัยชนะ” (นามสมมติประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและผู้ป่วยจิตเวช อายุ 33 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก จำนวนสี่ข้อความ โดยคดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา 

ศาลเห็นว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้รูปภาพและชื่อของจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานฝั่งจำเลยได้เบิกความว่าข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลง หรือแก้ไขไปเป็นข้อมูลและหลักฐานเท็จได้ ซึ่งจำเลยได้เคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองอยู่แล้วและได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้ เช่น ชื่อ-สกุล ภาพถ่ายที่เห็นใบหน้า เป็นต้น ขณะที่จำเลยถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยมาตรวจสอบด้วย แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการเข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด

จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณาคดี ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

5. คดีฉัตรมงคล ศาลจังหวัดเชียงราย 

27 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำพิพากษาในคดีของ ฉัตรมงคล หรือบอส เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในบริษัทเอกชน วัย 28 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี ซึ่งถูกฟ้องว่า เป็นผู้คอมเมนต์ข้อความมีเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ศรีสุริโยไท” โดยคดีนี้นัธทวัฒน์ ชลภักดี แอดมินเพจเฟซบุ๊กศรีสุริโยไท เป็นผู้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย 

ศาลเห็นว่า คดีนี้ไม่มีพยานบุคคลและหลักฐานที่ยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดจริง เมื่อพิจารณาทางนำสืบของจำเลยที่ชี้ให้เห็นว่าหน้าเฟซบุ๊กมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย  โดยไม่ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประกอบกับการตรวจสอบเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กกระทำได้โดยยาก อย่างการที่โจทก์นำส่งเฟซบุ๊กดังกล่าวไปตรวจสอบกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้วไม่สามารถยืนยันผู้ใช้งานได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

ศาลพิพากษาลงโทษ เพราะมีภาพถ่ายหน้าจอและข้อมูลแวดล้อม 4 คดี

มีอย่างน้อยหกคดีที่นอกจากผู้กล่าวหาจะมี “ภาพถ่ายหน้าจอ” มาแสดงแล้ว ตำรวจยังพยายามหาข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ข้อมูลที่ระบุถึงตัวผู้โพสต์ข้อความได้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็เพียงพอให้ศาลรับฟังและตัดสินให้จำเลยมีความผิด โดยเชื่อว่าหลักฐานเท่าที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่ศาลจะ “สิ้นสงสัย” ได้แล้ว ดังนี้

  1. คดี “กัลยา” ศาลจังหวัดนราธิวาส 

สิงหาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติพนักงานบริษัทเอกชนชาวจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กสองกระทง รวมสี่ข้อความ โดยคดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา 

ศาลเห็นว่า แม้ตามรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ จะตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าใครเป็นเจ้าของไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์มี พศิษฐ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมา ได้ข้อเท็จจริงและเชื่อมโยงเป็นลำดับ จนกระทั่งได้อดีตคนรักของจำเลยเป็นพยานให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยก็ให้การทำนองว่า จำเลยเปิดใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีเดียวกัน โดยมีอดีตคนรักเข้าไปใช้ได้ แต่ต่อมาจำเลยเปลี่ยนรหัสเข้าเฟซบุ๊ก พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2564 จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวด้วยตนเอง

ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ทำนองว่า การสมัครใช้เฟซบุ๊กสามมารถตั้งชื่อได้เอง และภาพที่นำมาแจ้งความไม่ได้สั่งพิมพ์โดยตรงจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่จะปรากฏจากหลักฐาน URL แต่มีลักษณะถ่ายภาพจากหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถนำมาตัดต่อ หรือตกแต่ง หรือนำข้อความมาพิมพ์ไว้ได้ จึงเป็นข้อต่อสู้ที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

ต่อมา 20 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยเห็นว่า มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รับในชั้นสอบสวนว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่การโพสต์ข้อความเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กของตนได้เพียงลำพัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกคุมขังเรื่อยมา

2. คดีภัคภิญญา ศาลจังหวัดนราธิวาส 

19 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ภัคภิญญา” (สงวนนามสกุลอายุ 31 ปี อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวนหกโพสต์ โดยคดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา 

ศาลเห็นว่า ภาพถ่ายในทะเบียนราษฎรของจำเลยตรงกับภาพบนเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง ยังพบว่ามีบัญชีอินสตาแกรมที่มีชื่อคล้ายชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยและมีภาพถ่ายที่เหมือนกับภาพบนบัญชีเฟซบุ๊กด้วย ทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า ตัวเองไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง จำเลยก็ไม่มีการแจ้งความว่ามีบุคคลอื่นแอบอ้างนำเฟซบุ๊กดังกล่าวไปใช้ ซึ่งผิดปกติของวิญญูชน ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าข้อความตามฟ้องทั้งหกข้อความเป็นการตัดต่อ พสิษฐ์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ได้นำภาพที่บันทึกจากหน้าจอโทรศัพท์ไปใส่ในโปรแกรมไมโครซอฟท์ เวิร์ด ซึ่งเป็นการจัดทำพยานหลักฐานทั่วไป และจำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีความปกติเพิ่มเติมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง

3. คดีพรชัย ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 

13 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาในคดีของ พรชัย หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี ชาวแม่ฮ่องสอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความสี่ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงปลายปี 2563 มีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยคดีนี้มี เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปสเป็นผู้กล่าวหาที่ สภ.แม่โจ้

ศาลเห็นว่า จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวถูกโจรกรรม โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีบุคคลได้นำภาพของจำเลยไปตัดต่อหรือใช้แทน หากมีผู้โจรกรรมเฟซบุ๊กจริง จำเลยน่าจะต้องแจ้งความหรือดำเนินการอย่างไรเพื่อหาตัวผู้กระทำ แต่จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งเชื่อว่าโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เมื่อจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีคลิปวิดีโอที่จำเลยไลฟ์แนะนำตนเองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความตามฟ้อง

4. คดีรักชนก ศาลอาญา

13 ธันวาคม 2566 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีของรักกชนก ศรีนอก หรือไอซ์ สสเขตบางบอนหนองแขม พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวิตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 โดยคดีนี้มี มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา 

ศาลเห็นว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้ให้การโดยละเอียด พนักงานสอบสวนสอบถามถึงการกระทำโดยละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์และเผยแพร่ข้อความดังกล่าวหรือไม่ จำเลยให้การว่า “ขอไม่ให้การ” จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หากมีการตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้าย จำเลยย่อมต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนต่อไป รวมทั้งมิได้ขวนขวายที่จะขอส่งมอบโทรศัพท์ของตนให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่เป็นการไม่ยากที่จะกลับไปเอาหรือส่งมอบให้ภายหลังในระยะเวลาอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงผิดวิสัย

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานสอบสวนรวบรวม URL ของโพสต์ทั้งหมดและพิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานเพียงพอ แม้จะไม่ได้พิมพ์ URL มาก็เชื่อได้ว่ามีข้อความดังกล่าวอยู่จริง ไม่มีเหตุใดให้เชื่อว่าพนักงานสอบสวนและผู้กล่าวหาจะร่วมกันจัดแต่ง URL ขึ้นมาเองเพื่อเอาผิดจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่ได้ให้การทักท้วงหรือปฏิเสธความมีอยู่หรือความถูกต้องของ URL ในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นระยะเวลาที่เชื่อว่าจำเลยไม่อาจคิดหาหนทางบิดเบือนข้อเท็จจริงได้เช่นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณา ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนประมาณหนึ่งปีหกเดือน ข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นพิจารณาจึงมีน้ำหนักน้อย

จำเลยเคยแถลงต่อศาลว่า ไม่ใช่เจ้าของบัญชี แต่ภายหลังจากสืบพยานปากพนักงานสอบสวน จำเลยเบิกความรับว่า บัญชีทั้งสามเป็นของตน ไม่สอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ เป็นพิรุธ ประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยซึ่งไม่นำพาหรือขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานใดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นสอบสวน อันเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งต้องเคารพและไม่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เชื่อว่าจำเลยโพสต์หรือรีทวีตภาพและข้อความดังกล่าวตามฟ้อง