ย้อนดูเทรนด์การให้-ไม่ให้ประกันตัวผู้วิจารณ์พระมหากษัตริย์ฯ ของศาลไทย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลจังหวัดพัทยามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ใช้ทวิตเตอร์ #นิรนาม @ssj_2475 แม้จะยื่นประกันตัวด้วยวงเงินสูงถึง 500,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรงหากปล่อยตัวเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นิรนามเคยยื่นประกันตัวครั้งแรกด้วยเงิน 100,000 บาท แล้วศาลจังหวัดพัทยายกคำร้องโดยให้เหตุผลเดียวกันไปรอบหนึ่ง 

อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทนายความของผู้ต้องหาได้อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลจังหวัดพัทยา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 200,000 บาท (ลดลงจากวงเงิน 500,000 บาท ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น) โดยให้เหตุผลว่า   

“ความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษจึงไม่สูงนัก มีการจับกุมผู้ต้องหาที่บ้านของผู้ต้องหาเอง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และผู้ขอประกันเป็นบิดาของผู้ต้องหา และใช้เงินสดเป็นหลักประกัน จึงน่าเชื่อถือ อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน”

กรณีการจับกุมตัว “นิรนาม” ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ได้รับการติดต่อขอให้ไปช่วยเหลือทางกฎหมายเพราะเขาถูกจับกุมตัวมาตั้งข้อกล่าวหา โดยเขาถูกกล่าวหาว่าทวิตข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในทางลบ แม้นิรนามจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และโทษจำคุกสูงสุดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะอยู่ที่ไม่เกิน 5 ปี แต่การปฏิเสธการให้ประกันตัวของศาลจังหวัดพัทยามีลักษณะการให้เหตุผลคล้ายๆ กับกรณีที่ศาลเคยยกคำร้องประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี 

การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวในการยื่นสองครั้งแรกอาจจะทำให้สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์กลับมาอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายไปในช่วงปี 2561-2562 ที่มีการ “งด” การดำเนินคดีประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งการที่ศาลทยอยให้ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีทยอยประกันตัวออกมาสู้คดีนอกเรือนจำ (ดูรายงาน Thailand Post Election Report: รวมความ (ไม่) เคลื่อนไหวคดี 112 – มาตรการใหม่ที่ใช้แทน

 

การดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกราชวงศ์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงข้อหาเดียว 

เท่าที่มีข้อมูลก่อนการรัฐประหารปี 2557 เคยมีกรณีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในราชวงศ์และถูกดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ กรณีของ คธา อดีตโบรกเกอร์ค้าหุ้นที่เกิดขึ้นในปี 2553 โดยเขาถูกกล่าวหาว่า นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน โดยคธาเขียนข้อความบนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันพูดถึงอาการพระประชวรของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ทิศทางของตลาดหุ้น จากการถูกดำเนินคดีครั้งนั้นคธาถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลอาญาเป็นเวลา 6 ปี จากการเขียนข้อความบนเว็บบอร์ดสองข้อความ แต่เนื่องจากคธาให้การเป็นประโยชน์ ศาลลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุก 4 ปี

ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคธาได้รับการประกันตัวมาโดยตลอด แม้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไปแล้วคธาก็ยังคงได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ในเดือนมีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนว่า คธามีความผิดสองกรรมตามศาลชั้นต้น แต่ได้ลดโทษจากจำคุก 4 ปี เหลือจำคุกรวม 2 ปี 8 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา คธายื่นคำร้องขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาแต่คำร้องของเขาถูกปฏิเสธ เพราะศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว หากอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยอาจหลบหนี คธาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2557 และมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 กันยายน 2558 

 

การให้ประกันตัวผู้ต้องหา / จำเลย คดีมาตรา 112 ก่อนยุค คสช.

เท่าที่มีข้อมูลพบว่า คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีที่ศาลให้ประกันตัวจำเลยยากมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว แม้ว่าบางคดีจำเลยจะยื่นวงเงินประกันสูงถึงหลักล้านก็ตาม เช่น

คดีของอำพลหรือ “อากง SMS”  ที่เกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง อำพล ชายวัย 61 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความ sms ที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 รวม 4 ข้อความไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของ สมเกียรติ ครองวัฒนสุข ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 2553 อำพลซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ระหว่างนั้นใช้ที่ดินของญาติอำพลมาเป็นหลักทรัพย์วางต่อศาลเพื่อขอประกันตัวอำพล หลังถูกคุมขังในชั้นสอบสวนได้ 63 วัน ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้อำพลประกันตัวออกมาสู้คดี แต่ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2554 เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี อำพลก็ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอีกครั้งโดยที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยโดยศาลให้เหตุผลว่า 

“พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง” ต่อมาในเดือนตุลาคม 2554 เมื่อศาลสืบพยานคดีของอำพลแล้วเสร็จ ทนายของอำพลยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้งซึ่งก็ถูกศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

ในเวลาต่อมาอำพลถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 20 ปี (ลงโทษจำคุกจากการส่ง sms ข้อความละ 5 ปี 4 ข้อความ 20 ปี)

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทนายของอำพลยื่นอุทธรณ์คดีก็ยื่นคำร้องขอประกันตัวอำพลอีกครั้งหนึ่งโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดและตำแหน่งวิชาการของนักวิชาการเจ็ดคน แต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่างยกคำร้อง โดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ระบุว่า 

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่า ถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ว”

ส่วนคำสั่งของศาลฎีกาที่ออกมาในเดือนมีนาคม 2555 ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความเจ็บป่วยนั้นเห็นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์”

เนื่องจากไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ในเดือนเมษายน 2555 อำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ให้คดีสิ้นสุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ แต่แล้วในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันเขาก็เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ระหว่างเข้ารับการรักษาอาการปวดท้องในโรงพยาบาลของราชทัณฑ์

คดีของสมยศ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เป็นคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 สมยศถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่บทความที่เนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2 ชิ้นในนิตยสารที่เขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการในปี 2553 สมยศถูกจับกุมในปี 2554 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสิบปีจากการกระทำสองกรรม (เผยแพร่บทความสองชิ้น) หลังจากนั้นศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาเป็นที่สุดลดโทษจำคุกของเขาจากความผิดกรรมละ 5 ปี เหลือความผิดกรรมละ 3 ปี รวมสองกรรม 6 ปี

ตลอดระยะเวลาการดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนในปี 2554 จนศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดในปี 2560 สมยศเคยยื่นคำร้องขอประกันตัวอย่างน้อย 16 ครั้ง โดยในเดือนกรกฎาคม 2556 ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทนายของสมยศเคยใช้หลักทรัพย์มูลค่ารวม 4,762,000 บาท ยื่นขอประกันตัวสมยศแต่ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า “การกระทำตามฟ้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต่อความรู้สึกของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงสิบปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนีจึงให้ยกคำร้อง” 

ในเดือนมีนาคม 2555 ทนายของสมยศยื่นประกันตัวเขาเป็นครั้งที่เจ็ดโดยใช้เงินสด 1,440,000 บาท จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหลักทรัพย์ แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า ก่อนหน้านั้นศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้วและไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

 

การให้ประกันตัวจำเลยคดีมาตรา 112 ในยุค คสช.

เมื่อมีการยึดอำนาจในปี 2557 การดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เช่น ในช่วงเดือนแรกๆ ของการรัฐประหาร คสช.ใช้อำนาจพิเศษเรียกผู้ที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือคนที่ “มีประวัติ” มาเข้าค่ายทหาร บางคนได้รับการปล่อยตัว แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและต้องขึ้นศาลทหาร 

นับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ คสช.พ้นจากอำนาจ มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอย่างน้อย 98 คน ในจำนวนนี้หากนับตามเวลาที่ถูกจับกุม 24 คนถูกจับกุมตัวในปี 2557 35 คนในปี 2558 13 คนในปี 2559 20 คนในปี 2560 และ 1 คนในปี 2561 และมี 5 คนที่ไม่ทราบเวลาจับกุมตัว

ในช่วงต้นของการรัฐประหาร ระหว่างปี 2557 – 2559 มูลค่าหลักทรัพย์ที่ถูกปฏิเสธการประกันตัวที่น่าสนใจมีดังนี้ คดีของสิรภพ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กและบนเว็บบอร์ดประชาไท สิรภพเคยวางเงินประกัน 300,000 บาทเพื่อขอประกันตัวต่อศาลทหารกรุงเทพ แต่ถูกปฏิเสธโดยศาลให้เหตุผลว่า “คดีนี้เป็นคดีกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี” 

คดีของ โอภาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คดีนี้ภรรยาของโอภาสเคยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า “หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง” และ

คดีของจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ที่เคยยื่นเงินประกัน 500,000 และ 600,000 บาท แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยเมื่อครั้งที่ยื่นหลักทรัพย์ 600,000 บาท ทนายของจ่าประสิทธิ์ขอให้ศาลไต่สวนประเด็นสุขภาพของจำเลยเพื่อประกอบคำร้องขอประกันตัวด้วย โดยหลังการไต่สวน ศาลไม่อนุญาตให้จ่าประสิทธิประกันตัว ให้เหตุผลว่า “เชื่อว่าอาการป่วยของจำเลยไม่มีอันตรายถึงชีวิต แพทย์ของราชทัณฑ์สามารถทำการรักษาได้ จึงให้ยกคำร้อง” 

คดี 112 อีก 2 คดีที่เป็นที่สนใจของสาธารณชนในช่วงต้นของการรัฐประหาร ได้แก่ คดีเจ้าสาวหมาป่า และคดีของจตุภัทร์หรือ “ไผ่ ดาวดิน” คดีเจ้าสาวหมาป่าซึ่งมีจำเลยสองคน ปฏิวัฒน์หนึ่งในจำเลยเคยใช้หลักทรัพย์ 600,000 บาทยื่นประกันต่อศาลแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว จำเลยทั้งสองคนในคดียังเคยใช้ตำแหน่งนักวิชาการสามคนเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวด้วยแต่ศาลไม่อนุญาต

ส่วนคดีของจตุภัทร์ ที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซี เบื้องต้นจตุภัทร์เคยยื่นเงินประกัน 400,000 บาทแล้วศาลอนุญาตให้ประกันตัว แต่ต่อมาเมื่อเขาโพสต์ข้อความแสดงความเห็นว่า “เศรษฐกิจแย่ แม่งเอาแต่เงินประกัน” บนเฟซบุ๊ก พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกันเพราะจตุภัทร์ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” ศาลจังหวัดขอนแก่นก็สั่งถอนประกัน โดยให้เหตุผลว่า

“ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งกำชับให้นายประกันผู้ต้องหามาตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ และหลักฐานในคดี หรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หลังได้รับการประกันตัว หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่า ผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ยอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก

ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ อายุ 25 ปี ย่อมรู้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหาย ภายหลังได้รับประกันตัว ประกอบกับนายประกันของผู้ต้องหาไม่ได้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา”

หลังถูกถอนประกัน จตุภัทร์ก็ยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้ประกันตัวอีกเลยจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา แม้ต่อมาเขาจะเพิ่มวงเงินประกันไปถึง 700,000 บาทก็ตาม

เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2561 สถานการณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เริ่มจะคลายตัว เท่าที่มีข้อมูลมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รายใหม่เพียงรายเดียว และต่อมาในปี 2562 จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ยังคงถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลทหาร เช่น สิรภพและอัญชัญ ศาลก็แจ้งให้ทนายนำเงินประกันมาวางต่อศาลทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวมาโดยตลอด  

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แทบไม่ถูกนำมาใช้แล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองที่มีการพาดพิงไปถึงสถาบันยังคงเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงทางคดี ทั้งคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำหรับกรณีของนิรนามก็มีความน่าสนใจว่า มีการฟ้องด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 แต่ถึงกระนั้น เมื่อนิรนามถูกควบคุมตัวครั้งแรก ศาลก็ไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวและแม้เขาจะเพิ่มเงินประกันเป็น 500,000 บาท ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้นิรนามประกันตัวในภายหลังด้วยวงเงิน 200,000 บาท